เปิดวิสัยทัศน์ “กีรติ กิจมานะวัฒน์” เอ็มดี ทอท. คนใหม่

ภายหลังจากที่อุตสาหกรรมการบินกลับมาโตอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ทำให้สนามบินทั่วโลกกลับมาคึกคัก ปรับตัวรับการเติบโต และประเทศไทยก็เป็น 1 ในหลายๆประเทศของโลกที่ต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรองรับการกลับมาของนักเดินทาง

“บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน)” (ทอท.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่กำกับดูแลท่าอากาศยานในความรับผิดชอบ 6แห่ง ประกอบด้วย สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง สนามบินภูเก็ต สนามบินเชียงใหม่ สนามบินเชียงราย และ สนามบินหาดใหญ่ ภายใต้การกำกับของกระทรวงคมนาคม 

ประกอบกับ ทอท. เวลานี้มี “กีรติ กิจมานะวัฒน์” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.)   เข้ามารับตำแหน่งกุมบังเหียนการบริหารอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2566 เป็นต้นไป ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษฉายภาพให้เห็นถึงทิศทางการดำเนินงานภายหลังจากที่รับตำแหน่ง”กรรมการผู้อำนวยใหญ่ ทอท.”คนใหม่ ว่า จะมีวิธีนำพา ทอท.ไปในทิศทางไหน อย่างไร ภายหลังจากที่อุตสาหกรรมการบินกลับมาเติบโต ขณะที่การแข่งขันการให้บริการในอุตสาหกรรมการบินก็แข่งขันกัน ส่วนในภาคของผู้ถือหุ้นจะได้อะไรบ้างจากการเข้ามาบริหารงาน

คำถาม : อะไรที่เป็นแรงดึงดูดใจให้มาสมัครในตำแหน่ง เอ็มดี ทอท.คนใหม่

ต้องบอกก่อนว่าตัวเองเป็นวิศวกร แต่ก็มีเป้าหมายที่อยากเข้ามาเป็นผู้บริหารองค์กร ที่มีผลในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ขณะเดียวกันก็มั่นใจว่า สามารถเอาความรู้ความสามารถของตนเอง มาทำให้กระบวนการหรือขั้นตอนในการพัฒนาองค์กรให้ดีขึ้นได้ ซึ่ง ทอท.ก็เป็น 1 ในองค์กรดังกล่าว เนื่องจาก ทอท.เป็นผู้ที่รับผิดชอบกำกับดูแลบริหารสนามบิน 6 แห่ง ทั่วประเทศ และธุรกิจการบริการสนามบินก็เป็นธุรกิจที่มีผลเกี่ยวเนื่องอย่างมากกับการพัฒนาประเทศ สร้างรายได้เข้าประเทศ เพราะประเทศเราการท่องเที่ยวมาเป็นอันดับ 1 เป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้เป็นอันดับ 1 และ สนามบินถือเป็นประตูด่านแรกที่จะนำพานักเดินทางเข้ามายังประเทศไทย ดังนั้นสิ่งที่จะสร้างความประทับใจหรือไม่ประทับใจ ก็อยู่ที่ประสบการณ์ของการเดินทาง หลายคนบอกว่าเดินทางมาเมืองไทยแล้วสะดวกสบาย มากินมาเที่ยวมีความสุข ถ้ามีความสุขก็อยากมาอีก 

ขณะเดียวกัน ทอท.ก็เป็นรัฐวิสาหกิจ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดังนั้น ข้อดีของ ทอท.คือ จะมีการใช้กฎหมายร่วมกัน ระหว่างการเป็นรัฐวิสาหกิจ กับ บริษัท ที่จดทะเบียนในตลาดฯ ซึ่งข้อดีก็จะทำให้ สามารถสรรหาผู้บริหารได้ , สรรหาพนักงานได้ทุกระดับ ซึ่งข้อนี้จะเป็นจุดที่ทำให้สามารถดึงเอาเลือดใหม่ หรือดึงเอาผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถภายนอกองค์กรเข้ามาทำงานได้ 

สำหรับตัวเองก็ไม่ได้เป็นลูกหม้อ หรือคนใน ทอท.มาตั้งแต่ต้น แต่เข้ามาทำงานที่ ทอท.เมื่อ 3 ปีก่อนในฐานะวิศวกร ซึ่งก็เข้ามาด้วยวิธีการสรรหา  ถามว่าก่อนหน้านี้ทำอะไรมาก่อน ก็ต้องบอกว่าเป็นที่ปรึกษาด้านคมนาคมในบริษัทที่ปรึกษา วางแผนออกแบบขนส่งมวลชน ดูรถไฟฟ้า ทางหลวง ทางด่วน การคมนาคมขนส่ง ดังนั้นจึงมั่นใจว่าจะสามารถเอาความรู้ความสามารถของตนเอง มาทำให้กระบวนการหรือขั้นตอนในการพัฒนาองค์กรให้ดีขึ้นได้ 

คำถาม : เป้าหมายหลักที่จะต้องทำหลังรับตำแหน่งคืออะไร

เป้าหมายหลักที่จะต้องทำคือ ให้ท่าอากาศยานภายใต้การกำกับดูแลของ ทอท. ทั้ง 6 แห่งทั่วประเทศ ประกอบด้วย สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง สนามบินภูเก็ต สนามบินเชียงใหม่ สนามบินเชียงราย และ สนามบินหาดใหญ่ เป็นผู้บริหารท่าอากาศยานที่ดี แม้ฟังดูอาจจะสั้น ๆ แต่จริง ๆ แล้วความหมายไปได้หลายเรื่อง โดยเฉพาะ”สนามบินสุวรรณภูมิ”ที่จะต้องกลับมาเป็นสนามบินที่ดีที่สุดของโลก สำหรับนักเดินทางอีกครั้ง ในการจัดอันดับของ Skytrax กับ Airport Service Quality (ASQ) โดยเป้าหมายของผม ภายใน 2 ปี “สนามบินสุวรรณภูมิ” ต้องกลับมาเป็น1 ใน 50 สนามบินที่ดีที่สุดของโลก และภายใน 4ปี จะต้องกลับมาติด 1 ใน 30 สนามบินที่ดีที่สุดของโลกให้ได้ 

โดยผลการจัดอันดับของ Skytrax ในปี 2565 พบว่า สนามบินสุวรรณภูมิอยู่ที่ลำดับ 77 พอมาปี 2566 สนามบินสุวรรณภูมิ อยู่ที่ลำดับ 68 ขณะที่ในปี 2553 สนามบินสุวรรณภูมิ เคยติดอยู่อันดับ 10 ของโลกมาก่อน

และเมื่อกลับไปย้อนดูสาเหตุที่ทำให้คะแนนสนามบินลดลง ก็พบว่าเกิดจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะยิ่งปีท้าย ๆ ที่มันร่วงลงมาเยอะ เพราะมาตรการตรวจสอบ ตรวจเข้มต่าง ๆ ทำให้ผู้โดยสารรู้สึกไม่ได้รับความสะดวกสบาย คะแนนก็ลด แต่ต้องเข้าใจว่ามาตรการต่าง ๆ  มาพร้อมกับความจำเป็นทางสาธารณสุข ซึ่งแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ประเทศยุโรปอาจจะเปิด แต่ของไทย คือ  จำกัดการเดินทาง ทำให้คะแนนลดลง แต่ปัจจุบันในเมื่อไม่มีมาตรการแล้ว ก็มองว่าเป็นจุดที่ต้องผลักดัน ลำดับของสนามบินสุวรรณภูมิให้กลับมาให้ได้ 

คำถาม : มีแผนกอบกู้คุณภาพการบริการอย่างไรเพื่อให้สนามบินสุวรรณภูมิกลับมาเป็นท่าอากาศยาน “เวิล์ด คลาส”อีกครั้ง

ภายหลังจากที่อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกได้รับผลกระทบจากวิกฤติการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ทำให้ผู้ร่วมอุตสาหกรรมการบิน ต่างก็บอบช้ำ รวมถึงมีการลดขนาดองค์กร down sidesingซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ การลดจำนวนพนักงาน หรือผู้ให้บริการต่าง ๆ ในภาคของสายการบิน ซึ่งตรงนี้ส่งกระทบมาทำให้จำนวนสตาฟที่จะเข้ามาให้บริการ ทั้งการให้บริการภาคพื้น การเช็คอิน การขนกระเป๋า มีคนน้อยลง แต่เมื่อปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายอุตสาหกรรมการบินกลับมาสู่ปกติ ผู้โดยสารในประเทศกลับมาเดินทางแบบ100% ส่วนผู้โดยสารระหว่างประเทศอยู่ที่ 70% ก็ส่งผลกระทบเกิดความแออัด และความล่าช้าต่อการให้บริการกับผู้โดยสารที่เข้ามาใช้บริการที่สนามบิน

ขณะที่เทรนด์ใหม่ผู้โดยสารกลัวการเดินทาง เกรงว่าจะไม่ทันขึ้นเครื่อง ดังนั้นทุกคนจึงมาสนามบินก่อนเวลา เช่น เที่ยวบินเดินทางเวลา01.00 น. แต่มารอก่อน 19.00 น. อาจจะเป็นเพราะทัวร์นัด  กลายเป็นต้องมารอ 6-7 ชั่วโมง  พอเคาน์เตอร์เริ่มให้เช็คอินได้ก็จะเห็นภาพผู้โดยสารยืนรออยู่หน้าเคาน์เตอร์อีก 2 ชั่วโมง เพราะว่าต้องรอ 3 ชั่วโมงก่อนที่จะเปิด ทำให้คิวแถวยาวอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ 

ดังนั้นช่วงนี้จึงถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ ทอท.จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาในระยะสั้นและระยะยาวควบคู่กันไป โดยระยะสั้น จะเน้นการบริการภาคพื้นเพื่อลดความแออัด และพัฒนาคุณภาพการบริการควบคู่กันไป  ซึ่งสิ่งแรกที่จะนำมาพัฒนาคุณภาพการบริการให้เกิดเป็นรูปธรรมคือ   ทอท. จะเอาเทคโนโลยีมาช่วยจัดการ เพื่อให้ขั้นตอนกระบวนการเช็คอิน ,โหลดกระเป๋า,ตรวจค้น ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.)ให้เร็วที่สุด เพื่อให้ผู้โดยสารได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ของคองคอร์ด แอเรีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผู้โดยสารนั่งพักรอขึ้นเครื่องจะใช้บริการมากที่สุด 

โดยจะมีการติดตั้งตู้ระบบ Self Check-in (เช็คอินด้วยตนเอง)กว่า 200 เครื่องทั่วทั้งเทอร์มินอล ซึ่งตู้ที่ให้บริการจะมี “น้องสวัสดี By AOT” เป็นเสมือน Airport Ambassador มาให้คำแนะนำผู้โดยสาร ซึ่งใช้เวลาเพียง 5 นาที โดยปัจจุบันตู้เช็คอินด้วยตนเอง สามารถรองรับได้ 18 สายการบิน เช่น การบินไทย บางกอกแอร์เวย์ เป็นต้น นอกจาก Self Check-in แล้ว เพื่อให้ครบวงจร ผู้โดยสารสามารถ Self Bag-Drop หย่อนกระเป๋าได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องใช้เคาน์เตอร์เลย ซึ่งมีทั้งหมด 30 จุด รองรับ 18 สายการบินเช่นกัน

สำหรับขั้นตอนการตรวจค้น เป็นหน้าที่ของ ทอท. 100% ดังนั้นจะทำอย่างไรที่จะเพิ่มความคล่องตัว (streamline) ในขั้นตอนในการตรวจค้น โดยได้มีกาาติดตั้งเครื่องเอกซเรย์สามารถดูได้ 2 มิติ ทำให้ไม่จำเป็นต้องเอาอุปกรณ์แล็ปท็อป หรือ น้ำออกมาจากกระเป๋า เรื่องสุดท้าย คือ ตม. ก่อนหน้านี้มีประเด็นเรื่องของ ตม.ที่กลับมาไม่เต็ม แต่ปัจจุบันได้รับความร่วมมือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการเพิ่มจำนวนของตม. ให้เต็มแล้ว  ส่วนนี้ก็จะทำให้การพิจารณารวดเร็วขึ้น ใช้เวลาประมาณ 30-45 นาทีสำหรับต่างชาติ 

ส่วนระยะถัดไป ทอท. ก็จะนำระบบออโตเมติกมาช่วยในการลดความหนาแน่นผู้โดยสาร ด้วยการนำเครื่อง Auto Gate มาให้บริการกับผู้โดยสารต่างประเทศที่เป็นขาเข้า จากเดิมตู้ดังกล่าวจะสำหรับให้บริการคนไทย ซึ่งหากนำเครื่องดังกล่าวมาใช้จะทำให้สามารถย้ายกำลังตม.ที่อยู่ผู้โดยสารขาออกไปตรงขาเข้าแทน 

เรื่องเล็กๆน้อยๆอย่างนี้ จริง ๆ แล้วกระทบต่อผู้โดยสาร จึงเป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่ต้องเข้าไปดู ซึ่งจากนโยบายดังกล่าว แม้เห็นเป็นเรื่องเล็กทั้งหมด แต่ภาพเล็ก ๆ เมื่อรวมกันจะเป็นการสร้างประสบการณ์ให้กับผู้โดยสาร ซึ่งจะเห็นภาพภายใน 1 ปีสนามบินต้องดีขึ้นแน่นอน หากผู้โดยสารเริ่มมั่นใจว่าไปถึงสนามบินแล้วเข้าเช็คอินได้ภายใน 20 นาที กระบวนการจบสิ้น ก็จะไม่มีผู้โดยสารที่มาก่อนล่วงหน้าแบบ 6-7 ชั่วโมง และจะมาล่วงหน้าแค่ 3-4 ชั่วโมง ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่เริ่มเห็นได้ชัดเจนว่าไม่มีผู้โดยสารมานั่งคอยกันอยู่ในพื้นที่เทอร์มินอล โดยเริ่มจากโมเดลที่สนามบินสุวรรณภูมิ จากนั้นจะสะท้อนไปยัง 6 สนามบินในกำกับของ ทอท.

นอกจากการปรับปรุงพัฒนาบริการดังกล่าวข้างต้นแล้ว สนามบินสุวรรณภูมิ ยังได้มีแผนที่จะเปิดให้บริการ อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT-1) ด้วยคาดว่าจะเปิด SAT-1ในเดือนกันยายน 2566 ซึ่งจะช่วยเพิ่มพื้นที่คองคอร์ต คือ พื้นที่พักคอยผู้โดยสารหลัง ตม. ได้อีก 50% หรือคิดเป็นพื้นที่เพิ่ม 200,000 ตารางเมตร ขณะเดียวกันก็จะมีสะพานเทียบเครื่องบินเพิ่มอีก 28 สะพานเทียบ  

รวมถึงการสร้างรันเวย์ที่ 3 ที่จะเปิดให้บริการต้นปี 2567 ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพในเรื่องของเที่ยวบิน (ไฟล์ทบิน)ขึ้นและลง จากเดิมมี 64 ไฟล์ทต่อชั่วโมง เป็น 92 ไฟล์ทต่อชั่วโมง หรือ 1 ชั่วโมง รองรับได้ประมาณ 1 ล้านคนต่อปี จะเห็นว่าศักยภาพในส่วนของแอร์ไฟล์ทจะเพิ่มจากเดิมประมาณ 60 ล้านคน เป็น 90 ล้านคน รองรับการกลับมาผู้โดยสารพอดี และจะเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันคะแนนของสนามบินปรับดีขึ้น

คำถาม : จะเห็นแผนพัฒนาสนามบินในระยะยาวอย่างไรบ้างและจะเป็นรูปธรรมหรือไม่

สำหรับการลงทุนขยายขีดความสามารถของสนามบินในสังกัด ทอท. สมัยที่ผมดำรงตำแหน่งนั้นยืนยันว่า นโยบายจะเร่งผลักดันจริงจัง ทั้งสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง รวมถึงสนามบินภูมิภาคอีก 2 แห่ง คือ สนามบินภูเก็ต และ สนามบินเชียงใหม่อย่างแน่นอน

แต่ปัจจุบันสิ่งที่ยังไม่ได้พัฒนา คือ เทอร์มินอล ที่ยังไม่ได้ก่อสร้าง หากถามว่านโยบายของผมคืออะไร ตอบเลยว่า  ต้องเร่งขยายเทอร์มินอลให้เร็วที่สุด ซึ่งตอนนี้เทอร์มินอลที่จะทำได้เร็วที่สุดและมีความพร้อม  คือ  ส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักหลังเดิมด้านทิศตะวันออก (East Expansion)  เนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติแล้ว รวมถึงมีความพร้อมในเรื่องของแบบต่างๆ ที่ออกแบบไว้  คาดว่าเมื่อปรับแบบเสร็จสิ้น ก็น่าจะเปิดประมูลต้นปี 2567  เมื่อขยายอาคารทิศตะวันออกแล้ว ก็จะผลักดันให้มีการก่อสร้างขยายอาคารทางทิศตะวันตก (West Expansion) ต่อ  

ส่วนแผนการก่อสร้างอาคารด้านทิศเหนือ (North Expansion) ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งผลักดัน เนื่องจากหากมีก่อสร้างขยายอาคารด้านทิศตะวันตกและอาคารด้านทิศตะวันออกแล้ว แม้จะทำให้พื้นที่เทอร์มินอลใหญ่ขึ้น แต่ถนนหน้าสนามบินสุวรรณภูมิเท่าเดิม โดยอาคารด้านทิศเหนือสนามบินสุวรรณภูมิ จะเป็นอาคารที่ให้บริการเส้นทางบินภายในประเทศอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารที่ไม่เกี่ยวกับอินเตอร์ไม่ต้องมาเทอร์มินอลหลัก ถือเป็นการแยกผู้โดยสารมีความชัดเจนและทำให้ปริมาณรถยนต์ลดลง ซึ่งการสร้างส่วนต่อขยายอาคารด้านทิศเหนือ นอกจากรองรับ แยกผู้โดยสารที่มาใช้บริการแล้วยังสามารถแก้ปัญหาเรื่องรถติดหน้าสนามบินได้ด้วย

ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตุว่า ควรสร้างอาคารด้านทิศเหนือสนามบิน หรือ จะสร้างส่วนต่อขยายอาคารด้านทิศใต้สนามบิน ก่อนนั้น ในเรื่องนี้ถ้าไม่ทะเลาะกัน ทำแล้วเกิดประโยชน์ทั้งนั้น ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นชัด ๆ การก่อสร้างอาคารด้านทิศตะวันตกและอาคารด้านทิศตะวันออก  คือ การขยายบ้านก็ขยายไป ส่วนเทอร์มินอลใหม่ที่จะทำเป็นตัวเปรียบเทียบระหว่างการก่อสร้างอาคารด้านทิศเหนือที่  40,000 ล้านบาท กับ การก่อสร้างอาคารด้านทิศใต้ ที่ 120,000 ล้านบาท ตอนนั้นค่อยไปเถียงกันว่าอยากให้ลงทุน 120,000 ล้านบาท หรืออยากให้ลงทุน 40,000 ล้านบาท 

หากเราคุยกับภาคสังคมกับภาควิชาการได้ ผมว่า ทอท. ก็จะไม่มีปัญหาในเรื่องของความขัดแย้ง เราพร้อมที่อธิบายให้กับหน่วยงานผู้ตรวจสอบ เนื่องจากเป็นรัฐวิสาหกิจ ว่าการทำนี้เกิดประโยชน์กับผู้โดยสารและทอท.ในภาพร่วม ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ผม ที่ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.คนใหม่ ที่ต้องเข้ามาผลักดันโครงการให้เกิดขึ้น

คำถาม : จะพัฒนาสนามบินดอนเมือง และสนามบินภูมิภาคอย่างไร

ในส่วนของสนามบินดอนเมืองนั้น มีแผนที่จะสร้างอาคารที่พักผู้โดยสาร 3 หลังใหม่ ตรงบริเวณอาคารที่เคยให้บริการภายในระเทศเก่า เพื่อมาเป็นอาคารที่ให้บริการเส้นทางระหว่างประเทศอย่างเดียว ขณะเดียวกันจะปรับปรุงอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ 1 และ 2 ในปัจจุบัน ยุบรวมเป็นอาคารเดียวกัน เพื่อเปิดให้บริการผู้โดยสารในเส้นทางบินในประเทศอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่รองรับปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเท่าตัว จากเดิมมีพื้นที่รองรับที่ประมาณ 150,000 ตารางเมตร เมื่อปรับปรุงสร้างใหม่จะมีพื้นที่ถึง 300,000 ตารางเมตร รองรับปริมาณผู้โดยสารที่มาใช้บริการที่สนามบินดอนเมืองถึง  50 ล้านคนต่อปี อย่างไรก็ตามขั้นตอนการพัฒนาสนามบินดอนเมืองนั้น  ครม.ได้อนุมัติงบประมาณ กว่า 36,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการเรียบร้อยแล้ว  ขั้นตอนอยู่ในช่วงของการออกแบบ ซึ่งน่าจะเริ่มได้ปลายปี 67  

ส่วนสนามบินต่างจังหวัด อีก 2 ท่าอากาศยานที่ต้องมีการแก้ไขปัญหาความแออัดอย่างเร่งด่วน คือ สนามบินภูเก็ตและสนามบินเชียงใหม่ โดยสนามบินภูเก็ต มีศักยภาพรองรับผู้โดยสารเที่ 12 ล้านคนต่อปี และตามแผนจะมีการสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศซึ่งจะรองรับผู้โดยสารได้อีก 6 ล้านคนต่อปี ซึ่งจะทำให้สามารถรองรับผู้โดยสารสูงสุดที่ 18 ล้านคนต่อปี ส่วนสนามบินเชียงใหม่ จะสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศอินเตอร์หลังใหม่เพิ่มขึ้นมาและปรับอาคารหลังเดิมทั้งหมดให้เป็นภายในประเทศ

อีกเรื่องที่อยากดำเนินการ คือ เรื่องของ sustainable airport หลายสายการบินทั่วโลกตอนนี้มีข้อจำกัด ในเรื่องของการเลือกสนามบินเป็น Destination เนื่องจากสนามบินมีมาตรการในเรื่องของ sustainability ก่อนหน้านี้สนามบินเราไม่ค่อยมีเท่าไหร่ จะมีแต่ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งหลังจากนี้จะเอาเรื่องของ sustainability ขึ้นมาเป็นประเด็นหลัก เพราะมองว่าไม่ใช่เพียงแค่การได้เป้า sustainability อย่างเดียว แต่ยังประหยัดรายจ่ายได้ด้วย 

ซึ่งนโยบายที่จะทำคือ  ภายใน 4 ปีจะมีการเปลี่ยนการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในท่าอากาศยานทั้งหมดของ ทอท. ให้เป็นพลังงานแสงอาทิตย์ หากพิจารณาทางกายภาพจะพบว่าสนามบินมีพื้นที่ที่มากพอ ทั้งพื้นที่ข้างรันเวย์ บ่อน้ำ ซึ่งที่เหล่านี้ใช้ประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้เพราะถูกจำกัดด้วยความสูง สร้างอาคารไม่ได้พัฒนาเชิงพาณิชย์ก็ไม่ได้ แต่สามารถสร้างโซล่าร์เซลส์ได้ ซึ่งสนามบินเราไม่ใช่ที่แรก แต่กระแสนี้ทำมาหลายสนามบินในโลก ซึ่งทำแล้วนอกจากจะได้เป้าเรื่อง sustainability แล้วยังทำให้รายจ่ายของค่าไฟฟ้าในสนามบินลดลงกว่า 15-20% ปัจจุบันในหลายหน่วยงานมีบริษัทไปประมูลเรื่องของการลดค่าไฟ ตอนนี้ได้เริ่มทำกับดีแทคบนหลังคาในเทอร์มินอล ตอนนี้ที่ทำต่อคือ อยากให้สนามบินสุวรรณภูมิสามารถผลิตไฟได้ 50 เมกะวัตต์   ทำให้ได้ภายใน 2 ปีแรกที่เข้ามารับตำแหน่ง

ขณะเดียวกันจะมีนโยบายเปลี่ยนรถเที่ให้บริการทั้งหมดในสนามบินให้เป็นรถไฟฟ้า เพราะเรื่องนี้กระทบกับผู้โดยสารมาก เวลาที่ไปรอ bus gate เหม็นควันมาก เป็นฟีดแบคจากผู้โดยสารโดยตรง เวลาที่ไปใช้ bus gate ไม่ได้รับความสะดวก ควันเหม็น  

คำถาม : ในเมื่อ ทอท. เป็นรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดฯจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ถือหุ้น นักลงทุนอย่างไร

ในฐานะที่เป็นผู้บริหารสูงสุดของ ทอท. จะสร้างความมั่นใจในเรื่องของสร้างรายได้ และเงินปันผลให้มากขึ้น ให้กับผู้ถือหุ้นในตลาด โดยจะแสดงให้ผู้ถือหุ้นเห็นว่าโครงการลงทุนต่าง ๆ   ทำเพื่อขยายขีดความสามารถ และรองรับกับความต้องการที่จะมาจริงๆ ถ้าก่อนหน้านี้เราบอกว่าจะลงทุนตั้งแต่ช่วงระหว่างพีคของโควิด ผู้ถือหุ้นก็ไม่มั่นใจว่าการลงทุนจะเกิดประโยชน์ และผู้โดยสารจะกลับมาไหม แต่ตอนนี้ตัวเลขปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารก็ชัดเจน  ว่ากระแสของทั้งโลกและของประเทศมาแน่ แต่เราจะทำยังไงให้รับตามนั้นได้ 

จะเห็นได้ว่ารายได้จากการดำเนินงานในแต่ละปี ก่อนโควิดระบาดช่วงปี 2561-2562 อยู่ที่ปีละประมาณ 62,000 -64,000 ล้านบาท ซึ่งแล้วแต่ปี แบ่งเป็นรายได้ที่เกี่ยวกับธุรกิจการบิน (แอร์โร)กว่า 35,000 ล้านบาท เป็นรายได้ที่เกิดจากธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับการบิน (นอนแอร์โร)ถึง 27,000 ล้านบาท ส่วนกำไรเคยอยู่ที่ระดับสูงสุดปีละ 25,000 ล้านบาท ดังนั้นหากผู้โดยสารกลับมาเท่าเดิม เป้าหมายอย่างน้อยภายใน 4 ปี รายได้ต้องกลับไปสู่จุดเดิมที่เคยสูงสุด หรือประมาณ 60,000 ล้านบาท และกำไร 25,000 ล้านบาทให้ได้ ขณะเดียวกันก็มองว่าโอกาสที่รายได้จะสูงกว่าเดิมมี แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการลงทุนเพื่อขยายขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารที่มากขึ้น ส่วนสถานะทางการเงินลงทุนในปัจจุบัน ทอท.ใช้เงินกู้แต่คาดว่าภายใน 2-3 ปีจะสามารถคืนทุนได้

คำถาม : กังวลไหมที่เข้ามารับตำแหน่งสูงสุดในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ตอบได้เลยว่าไม่มีความกังวล เพราะผมมั่นใจและเชื่อมั่นว่า ตัวเองเป็นนักบริหารมืออาชีพ ฉะนั้นจะต้องทำงานได้กับทุกผู้บริหารที่เข้ามากำกับดูแล

เพราะเป้าหมายหลักของการทำงานที่ได้มีการนำเสนอวิสัยทัศน์ไปในการคัดเลือกสรรหา จะเน้น ในมุมของการรีโนเวทที่จะมีอยู่เรื่อยๆ ดังนั้นจะทำอย่างไรให้พื้นที่ที่มีอยู่ ทำงานอย่างไรให้ดีขึ้น และเกิดประโยชน์สูงสุดขององค์กร จะไม่มามองเฉพาะความสวยงาม เพราะหลักๆต้องมองความสะดวกของผู้โดยสารมาก่อน   

โดยมองถึงแผนการพัฒนา เอาผู้โดยสารนำหน้าเพื่อที่จะผลักดัน ทอท. ให้ก้าวต่อไป 

ขอขอบคุณที่มา : หน้าเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ