เปิดร่างแถลงการณ์ G20

  • “ประยุทธ์”ร่วมลงนาม 2 ฉบับ
  • แถลงการณ์ผู้นำ G 20
  • แถลงการณ์โอซากาว่าด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล

พล.ต.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯได้ตอบรับคำเชิญของนายกฯญี่ปุ่น เข้าร่วมประชุมผู้นำกลุ่ม 20 ประจำปี 2562 (จี 20) ในฐานะประธานอาเซียน ระหว่างวันที่ 28-29 มิ.ย. ที่เมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น โดยประเทศไทยจะมีการรับรองร่างแถลงการณ์ผู้นำจี 20 ณ โอซากา และในการประชุมคู่ขนานเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล ผู้นำประเทศจะร่วมให้การรับรองร่างแถลงการณ์โอซากาว่าด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล ดังนั้น ครม.จึงมีมติรับรองร่างแถลงการณ์ผู้นำจี 20 ประจำปี 2562 และร่างแถลงการณ์โอซากาว่าด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล

สำหรับสาระสำคัญของรับรองร่างแถลงการณ์ผู้นำ จี20 เป็นการแสวงหาแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก และกับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ เพื่อสร้างโลกที่ยั่งยืน โดยเน้นความร่วมมือในการปรับปรุงกฎระเบียบระหว่างประเทศให้สามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกปัจจุบัน และย้ำความสำคัญของการประสานนโยบายของประเทศสมาชิกเพื่อรับมือกับความท้าทายหลัก ๆ ที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโลก สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งผ่านการส่งเสริมการค้าเสรีและนวัตกรรม ซึ่งรวมถึงการนำเศรษฐกิจเข้าสู่ระบบดิจิทัล และการต่อต้านการทุจริตและปัญหาคอร์รัปชั่น อีกทั้งจะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะผู้สูงวัย เยาวชน สตรี และคนพิการ และส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร โดยการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและการจัดจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนมุ่งมั่นที่จะลงทุนในทุนมนุษย์และส่งเสริมการศึกษาที่มีคุณภาพที่ทุกคนเข้าถึงได้ตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และแสดงความมุ่งมั่นที่จะก้าวไปสู่การมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยให้ความสำคัญกับการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน

ส่วนสาระสำคัญของร่างแถลงการณ์โอซากาว่าด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นการเห็นพ้องว่าการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัลได้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อทุกมิติของเศรษฐกิจและแนวทางการดำรงชีวิต และยืนยันถึงความสำคัญของการปรับและสร้างกฎระเบียบใหม่ ๆ เพื่อให้ทันต่อการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจดิจิทัล ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมการหารือเชิงนโยบายระหว่างประเทศด้านดิจิทัล ซึ่งจะประกาศการเปิดตัวของ “โอซากาแทร็ก (Osaka Track)” ซึ่งเป็นกระบวนการที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความพยายามเพื่อจัดทำกฎระเบียบระหว่างประเทศ นอกจากนั้น ให้ความสำคัญกับการดำเนินการที่เกี่ยวข้องภายใต้กรอบองค์การการค้าโลกโดยเฉพาะการออกแถลงการณ์ร่วมการเริ่มเจรจาจัดทำความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของสมาชิกองค์การการค้าโลกบางประเทศ ที่เมืองดาวอส เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2562 และยืนยันความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันผลักดันพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และการหารือที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บรรลุผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมก่อนการประชุมรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก สมัยที่ 12 ในเดือนมิถุนายน 2563