เปิดรายละเอียดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3.16 แสนล้านบาท

  • เพิ่มเงินช่วยเหลือผ่านบัตรคนจน-คนสูงอายุ
  • พักหนี้กองทุนหมู่บ้าน-ภัยแล้ง-แจกเที่ยวคนละพัน
  • หวังเพิ่มการใช้จ่าย-ดันเศรษฐกิจโตเพิ่ม 0.5%

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวชี้แจงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2562 วงเงิน 316,813 ล้านบาท ว่า เป็นเงินนอกงบประมาณจากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 270,000 ล้านบาท เงินโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 20,000 ล้านบาท และเงินงบประมาณ 40,000 ล้านบาทประกอบด้วย 4 ด้านหลัก

มาตรการที่ 1
มาตรการบรรเทาค่าครองชีพผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกองทุนหมู่บ้าน ระหว่างเดือนสิงหาคม – กันยายน 2562 ประกอบด้วย
– ผู้มีบัตรสวัสดิการฯ ทุกคน 14.5 ล้านคน จะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มอีก 500 บาทต่อคนต่อเดือนเป็นเวลา 2 เดือน
– ผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการฯ ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มอีก 500 บาทต่อคนต่อเดือนเป็นเวลา 2 เดือน
– ช่วยเหลือการเลี้ยงดูบุตรแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการฯ ที่มีอายุ 0 ถึง6 ปี ได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มอีกจำนวน 300 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นเวลา 2 เดือน
– พักชำระหนี้เงินต้นของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่คงค้างกับสถาบันการเงิน 50,732 แห่ง โดยพักชำระหนี้เฉพาะเงินต้นเท่านั้น

มาตรการที่ 2
บรรเทาค่าครองชีพสำหรับเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้งปี 2562 ประกอบด้วย
– สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โดย ธ.ก.ส.จะให้สินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ในอัตราดอกเบี้ย 0.1% ต่อปี วงเงินกู้ไม่เกิน 300,000 บาท ระยะเวลา 1 ปี เริ่มวันที่ 1 ส.ค.2562 ถึงวันที่ 31 ก.ค.2563
– ขยายเวลาชำระหนี้เงินกู้ให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ระยะเวลา 2 ปี
– สนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่

มาตรการที่ 3
กระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ ประกอบด้วย
1. มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิมช้อปใช้” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ และสนับสนุนการใช้จ่ายผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (g-Wallet) โดยผู้สนใจเข้าร่วมมาตรการจะต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป ได้รับสิทธิประโยชน์ 2 ส่วน ได้แก่
– รัฐบาลสนับสนุนเงิน 1,000 บาทต่อคน เพื่อนำไปซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการ แต่ไม่สามารถถอนเป็นเงินสดได้
– หากผู้ลงทะเบียนใช้เงินเพิ่มเพื่อใช้จ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าที่พัก หรือค่าสินค้าท้องถิ่น จากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการ รัฐบาลจะชดเชยเงินคืนให้เป็นจำนวนเท่ากับ 15% ของยอดชำระเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 4,500 บาทต่อคน ซึ่งเท่ากับวงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน

ทั้งนี้ การได้เงินคืนต้องเป็นการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เพื่อซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่รับชำระเงินด้วยแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ระยะเวลา 3 เดือน ใน ก.ย.-พ.ย.นี้เท่านั้น และประชาชนที่ได้รับสิทธิ์ต้องใช้สิทธิ์ท่องเที่ยว ภายใน 14 วัน หากเลยระยะเวลาดังกล่าวไปแล้วจะถูกตัดสิทธิ์ทันที เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนรายใหม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด

2.โครงการสนับสนุนเอสเอ็มอีรายย่อย ผ่านกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยร่วมกับเอสเอ็มอีแบงก์ ให้วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1% ต่อปี

3.โครงการค้ำประกันสินเชื่อระยะที่ 8 (PGS8) วงเงิน 150,000 ล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี ค่าธรรมเนียมค้ำประกันเฉลี่ยไม่เกิน 1.75%

มาตรการที่ 4
มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการลงทุนของบริษัทเอกชนหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายลงทุนในเครื่องจักรได้ 1.5 เท่าของที่จ่ายจริง ตั้งแต่ 1 ก.ย.2562 ถึง 31 พ.ค.2563 ส่วนมาตรการที่ 4 สุดท้ายคือ แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและงบลงทุนของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมี รมว.คลัง เป็นประธานกรรมการ มีกรรมการประกอบด้วย ส่วนราชการที่ได้รับการจัดสรรงบลงทุนอยู่ในระดับสูง รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น ทั้งนี้ นายลวรรณ กล่าวด้วยว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2562 นี้คาดว่าจะสามารถผลักดันให้เศรษฐกิจปีนี้ เติบโตได้มากขึ้น 0.5% จากเดิมที่คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3% จะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 3.5%