เปิดผลงาน “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” หลังรับตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. 30 วัน ลุยสร้างความร่วมมือทุกมิติ โปร่งใสสำหรับทุกคน

  • ลุยดำเนินการ 4 นโยบายเร่งด่วน ทั้งการแก้ปัญหาน้ำท่วม ความปลอดภัยบนท้องถนน ทางม้าลาย 
  • แก้ปัญหาหาบเร่แผงลอย เคลียร์ปมสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว
  • ดำเนินงานด้านแนวทางพัฒนาทางเท้า การจัดระเบียบสายไฟและสายสื่อสาร 
  • จัดหาพื้นที่การค้า และ Hawker Center แก้ปัญหาหาบเร่
  • ผุดช่องทางติดต่อ ผู้ว่าฯ กทม. รายงานปัญหาเส้นเลือดฝอยกับ Traffy Fondue 

เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว สำหรับการเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) ของ “นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์” หลังคว้าชัยในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2565 

โดยคนกรุงเทพฯ ได้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันอย่างท่วมท้น พร้อมเทใจกากเลือกนายชัชาติ ให้นั่งเก้าอี้ ผู้ว่าฯ กทม. ด้วยคะแนน 1,282,191 คะแนน โดยผลคะแนนดังกล่าวนี้ ยังถือเป็นคะแนนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในการเลือกตั้งผู้ว่าขฯ กทม. และทำลายสถิติเดิมที่ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธ์ บริพัตร ทำไว้ที่ 1,256,349 คะแนน เมื่อครั้งเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2556 

มาวันนี้ก็เป็นเวลา 1 เดือนกว่า ที่นายชัชชาติ ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ ผู้ว่าฯกทม. ซึ่งหลายคนคงได้รับรับทราบ และติดตามผลงานการปฏิบัติหน้าที่ของนายชัชชาติ ผ่านทางช่องทางสื่อหนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ รวมถึงช่องทางโซเชียลมีเดีย ที่ผู้ว่าฯชัชชาติ จะอัปเดตการทำงานในแต่ละวันให้ประชาชนได้ติดตาม

ล่าสุดทางทีมงาน ผู้ว่าฯชัชชาติ ยังได้จัดทำเอกสารดิจิทัล โดยมีเนื้อหากล่าวถึง…การสรุปผลงานผู้ว่าฯ กทม. 30 วันเพื่อลุยขับเคลื่อน 216 นโยบาย กับแผนพัฒนากรุงเทพฯ ระยะ 20 ปี ระยะที่ 3 (พ.ศ.2566-2570) 

ทั้งนี้ เนื้อหาเปิดตัวด้วย 4 นโยบายเร่งด่วน เริ่มที่ 1.การแก้ปัญหาน้ำท่วม 2.ความปลอดภัยบนท้องถนน ทางม้าลาย3.แก้ปัญหาหาบเร่แผงลอย 4.สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว

โดยเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วม ปัจจุบันมีการลอกท่อไปแล้ว 2,387 กิโลเมตร (กม.) หรือกว่า 70% ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 3,390 กม. (ข้อมูล ณ วันที่ 2 ก.ค.65) มีการร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ นำนักโทษมาช่วยลอกท่อ โดยปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการแล้ว 10 จุด 

ด้านความปลอดภัยบนท้องถนน ทางม้าลาย ได้มีการดำเนินโครงการเทศกิจ School Care โดยจัดเจ้าหน้าที่จำนวน1,022 รายต่อวัน อำนวยความสะดวกด้านการจราจร บริเวณโรงเรียนในช่วงเวลาเร่งด่วน ดูแลความปลอดภัยบริเวณหน้าโรงเรียนในพื้นที่ 50 เขต รวมจำนวนโรงเรียนทั้งหมด 346 แห่ง 

ทั้งนี้วันที่ 11 ก.ค.2565 เจ้าหน้าที่เทศกิจจะเพิ่มการดูแลครบทุกโรงเรียนในสังกัด กทม. ทั้งหมด 437 แห่ง รวมถึงดำเนินการทยอยติดตั้งไฟทางข้ามแบบกดปุ่ม และไฟกระพริบเตือน คาดว่าภายในเดือน ก.ย. 2565 จะแล้วเสร็จ 80 จุด 

ดำเนินการปรับปรุงพื้นผิวจราจร ติดตามเร่งรัดการคืนพื้นผิวการจราจรจากการก่อสร้าง ประสานงานกับการไฟฟ้า ในการปรับปรุงพื้นผิวจราจรถนนพระราม 3 และถนนวิทยุ เร่งรัดการก่อสร้างและคืนผิวจราจรและทางเท้าถนนรามคำแหง บริเวณแยกลำสาลี แยกท่าพระ และอุโมงค์รัชดา-ราชพฤกษ์ 

อีกทั้งมีการดำเนินงานด้านแนวทางพัฒนาทางเท้า การจัดระเบียบสายไฟและสายสื่อสาร จัดกิจกรรมหมวกกันน็อคสำหรับเด็ก สำรวจความต้องการหมวกกันน็อคของนักเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยพบว่ามีความต้องการหมวกกันน็อคจำนวน 126,117 ใบ คิดเป็น 48.29% ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด โดยได้รับการสนับสนุนจาก สมาคมประกันวินาศภัยไทย และบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด 

ในส่วนการดำเนินงานด้านหาบเร่แผงลอย ได้จัดหาพื้นที่การค้า และ Hawker Center โดยมีการดำเนินการต่อเนื่องพื้นที่การค้ามีอยู่เดิม 55 จุด 3,375 แผง ทั้งนี้กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เห็นชอบแล้ว 31 จุด 1,521 รายอยู่ระหว่างเสนอ บช.น. ทบทวนให้ความเห็นชอบ 9 จุด 

ทั้งนี้การดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วน ผู้ว่าฯชัชชาติ ได้ลุยสำรวจพื้นที่การค้าเพิ่มเติม พื้นที่สาธารณะ 198 จุด 27,627 แผง ที่เอกชน/สถานที่ราชการ/หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 124 จุด 9,216 แผง

ทั้งนี้ยังเร่งนโยบายการบริหารจัดการหาบเร่แผงลอย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โดยเร่งดำเนินการในมิติการจัดหาพื้นที่ เพื่อให้ผู้ค้าเข้าถึงพื้นที่ในการค้าขาย ซึ่งเป็นกลไกสำคัญเชิงเศรษฐกิจ

1.การจัดหาพื้นที่การค้า และ Hawker Center ประกอบด้วย 1.1 ได้พิจารณาจุดทำการค้าสำหรับหาบเร่แผงลอยเพิ่มเติมแล้ว 198 จุด รวม 27,627 แผงค้า โดยอยู่ระหว่างทบทวนหลักเกณฑ์การทำการค้า ก่อนเสนอคณะกรรมการระดับเขตพื้นที่ ระดับ กทม. และ บช.น. พิจารณาต่อไป

1.2 สำรวจพื้นที่เพื่อกำหนดเป็นพื้นที่ทำการค้าเพิ่มเติมในที่เอกชน สถานที่ราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจแล้วทั้งสิ้น124 จุด 

2.การลดราคาแผงตลาด และลดดอกเบี้ยสำนักงานสถานธนานุบาล (โรงรับจำนำ กทม.) เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานราก มาตรการที่ 1 ลดค่าเช่าแผง 50% เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ ก.ค.-ก.ย.65 ในตลาด กทม. 12 แห่ง มาตรการที่ 2 ลดดอกเบี้ยโรงรับจำนำ กทม. 

ด้านสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ได้ลุยสะสางปัญหาสัมปทาน โดยคณะกรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ KT (ชุดใหม่) ได้ประชุมหารือร่วมกัน 2 ครั้ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ก.ค.2565 ได้มีการหารือเรื่องสัญญาจ้างเดินรถ และข้อเสนอเกี่ยวกับประเด็นสัญญาสัมปทาน และค่าโดยสาร ซึ่งมีการสรุปผลการหารือดังนี้

1.สัญญาการเดินรถส่วนต่อขยายทั้ง 2 ช่วง บอร์ดมีมติให้เริ่มเก็บค้าโดยสารตั้งแต่เดือน ส.ค.2565 เพื่อนำรายได้มาจ่ายค่าดอกเบี้ยและค่าจ้างเอกชนเดินรถ

2.การเปิดเผยสัญญาสัมปทาน โดยผู้ว่าฯชัชชาติ มีความเห็นว่าประชาชนมีสิทธิ์ได้รับทราบข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของค่าใช้จ่าย เพื่อจะได้สามารถพิจารณาค่าเดินรถที่เหมาะสมต่อไป

อีกทั้งยังมีในด้านการประสานความร่วมมือกับภาครัฐ อย่างน้อย 29 หน่วยงาน ภาคเอกชน อย่างน้อย 15 หน่วยงานภาคการศึกษา/วิจัย อย่างน้อย 8 หน่วยงาน ภาคประชาสังคม อย่างน้อย 5 หน่วยงาน และต่างประเทศ อย่างน้อย 14 ประเทศ

การดำเนินงานต้นไม้ล้านต้น โดยมีหน่วยงานแจ้งความประสงค์ปลูกต้นไม้ร่วมกับ กทม. กว่า 1,300,000 ต้น รวมถึงมีการดำเนินการ “ผู้ว่าฯสัญจร” ทุกวันอาทิตย์ใน 50 เขต

นอกจากนี้ยังมีในส่วนการรายงานปัญหาเส้นเลือดฝอยกับ ผู้ว่าฯกทม. Traffy Fondue โดยสรุปสถิติหารแจ้งปัญหาแบ่งเป็น รอรับเรื่อง 1,932 เรื่อง คิดเป็น 3%, ดำเนินการแล้ว 23,927 เรื่อง คิดเป็น 32%, ส่งต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ 18,279 เรื่อง คิดเป็น 25%, เสร็จสิ้น 30,840 เรื่อง คิดเป็น 42% รวมทั้งสิ้น 74,297 เรื่อง (ข้อมูล ณ วันที่ 6 ก.ค.65) 

ทั้งนี้ สำหรับ Traffy Fondue สามารถบอกอะไรคนกรุงเทพฯ ข้อมูลประจำเดือน มิ.ย.2565 พบว่า คนกรุงเทพฯรายงานปัญหาให้ กทม.ไปแล้วกว่า 60,750 เรื่อง เฉลี่ยใน 1 วัน คนกรุงเทพฯแจ้งปัญหา 2,025 เรื่อง โดยภายหลังกทม. เริ่มใช้งาน Traffy Fondue ได้รับการรายงานปัญหาเพิ่มสูงขึ้นกว่า 54.5 เท่า

นอกจากนี้ยังมีการเก็บข้อมูลตั้งแต่เริ่มใช้งาน-ปัจจุบัน พบว่า 5 ปัญหาที่คนกรุงเทพฯ ร้องเรียนมากที่สุด 1.เรื่องถนน12,264 เรื่อง ร้องเรียนในเรื่องถนนไม่เรียบ ถนนพัง ถนนเป็นหลุดเป็นบ่อ 2.ทางเท้า 4,061 เรื่อง ฟุตบาทชำรุดฟุตบาทพัง ฟุตบาทไม่เรียบ 3.แสงสว่าง 3,231 เรื่อง ไฟถนนไม่ติด ถนนมืด 4.ขยะ 2,559 เรื่อง ขยะเน่าเหม็น ถังขยะไม่พอ และ 5.น้ำท่วม 2,389 เรื่อง น้ำขัง ทางระบายน้ำตัน 

รวมทั้งยังเปิดเผยข้อมูล 5 อันดับ หน่วยงานที่รับเรื่อง และดำเนินการแก้ไขแล้วสูงสุด ประกอบด้วย 1.สำนักการโยธากทม. 8,023 เรื่อง 2.เขตจตุจักร 4,766 เรื่อง 3.สำนักงานการจราจรและขนส่ง กทม. 3,858 เรื่อง 4.เขตประเวศ 2,100 เรื่อง 5.เขตคลองเตย 1,995 เรื่อง