เปิดบริการ 5 จีแล้ว 5 หน่วยงานยันไม่มีคลื่นรบกวนรถไฟฟ้าแน่นอน

  • “กสทช.-กรมราง-บีทีเอส-บีอีเอ็ม-เอไอเอส”​จับมือแน่น มั่นใจไร้คลื่นรบวกวน
  • แบ่งการใช้คลื่นชัดเจนแล้ว 2400-2500 MHz
  • บีทีเอส ลงทุนสร้างระบบป้องกันแล้ว พ.ค.นี้ติดตั้งอุปกรณ์ 700 ชิ้นตามเส้นทางรถไฟฟ้า

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)​เปิดเผยว่า ที่ประชุมร่วมกับกรมขนส่งทางราง บริษัท  ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)​ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า บีทีเอสซี  บริษัท แอดวานซ์​อินโฟร์​ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส บริษัทการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย จำกัด หรือรฟม. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้า จำกัด บีอีเอ็ม  ได้เห็นชอบแนวทางการป้องกันการรบกวนคลื่นความถี่ต่อระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟฟ้าอย่างบูรณาการ เพื่อมิให้เกิดปัญหารบกวนหลังเปิดให้บริการ 5 จีอย่างทางการ  โดยจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาทันท่วงที กรณีมีปัญหาคลื่นรบกวนในอนาคต ส่วนปัจจุบันไม่มีปัญหาคลื่นรบกวนอย่างแน่นอน 

“หลายฝ่ายมีความกังวลว่า เมื่อเปิดให้บริการ 5จี แล้ว จะมีมีผลกระทบต่อการเดินรถไฟฟ้า จะเกิดปัญหาคลื่นรบกวน ขณะนี้ขอยืนยันว่าไม่มีปัญหาคลื่นรบกวน และไม่มีผลต่อการเดินรถไฟฟ้าอย่างแน่นอน เนื่องจากได้มีการย้ายช่วงคลื่นที่ใช้สำหรับรถไฟฟ้าแล้ว ขณะเดียวกันบีทีเอส ได้ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันสัญญาณรบกวน(Filter)แล้ว”

สำหรับช่วงคลื่นที่รถไฟฟ้าบีทีเอส ใช้งานคือ 2424-2477 เมกะเฮิรตซ์​ (MHz)  ซึ่งติดกับการใช้คลื่นของเอไอเอสเพื่อให้บริการ 5 จี ช่วงคลื่น 2500-2600 เมกะเฮิตรซ์​ โดยเอไอเอส และบีทีเอส ได้หารือกันมาตลอด และทดลองการดำเนินการด้วย ซึ่งบีทีเอส แจ้งว่า ได้เตรียมติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันสัญญาณรบกวนราว 700 ชิ้น คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพ.ค.นี้ 

นายสรพงษ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมขนส่งทางราง กล่าวว่า  รถไฟฟ้าใต้ติน จะไม่มีปัญหาคลื่นรบกวน  แต่รถไฟฟ้าบนดิน จะมีปัญหาปัญหา ซึ่งบีทีเอส ก็ได้แก้ปัญหามาตั้งแต่ปี2560แล้ว และปัจจุบันไม่มีปัญหาคลื่นรบกวน รวมถึงในอนาคตนก็จะไม่มีปัญหาเช่นเดียวกัน  และนับจากนี้ไปกรมราง บีทีเอส กสทช.จะหารือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อมิให้เกิดปัญหาคลื่นรบกวนได้อีก 

ส่วนกรณีการยื่นขอใช้คลื่นความถี่ย่าน 850 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อใช้สำหรับรถไฟความเร็วสูงนั้น คาดว่าภายในปี2563 นี้ จะทำหนังสือถึงกสทช. เพื่อขอใช้คลื่นความถี่ดังกล่าว เนื่องจากในเร็วๆ นี้ จะมีการเซ็นสัญญากับผู้ชนะประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)  และรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯโคราช ได้เร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการแล้ว