เปิดฐานะแบงก์พาณิชย์ แย่จริงไหม?

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีบทความจากนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหญ่คนหนึ่ง ซึ่งออกมาระบุว่า หากภาวะเศรษฐกิจไทยทรุดลงแรง และต่อเนื่องยาวหลายปี  จะมีธนาคารพาณิชย์ประมาณ 3 แห่งที่มีความเสี่ยงที่จะประสบปัญหาฐานะการเงินคล้ายกับช่วงวิกฤตปี 40 จากหนี้เสียที่พุ่งสูงได้

ส่งผลให้เกิดความวิตกในระบบการเงินของไทย จนธนาคารแห่งประเทศไทยต้องออกมายืนยันถึงความแข็งแกร่งของระบบธนาคารไทยว่ายังดีอยู่

ส่วนจะถามว่า จริงแล้วควรต้องวิตกไหม หากบทความนี้ออกมาในสถานการณ์ปกติ เชื่อว่าคงไม่มีผลสั่นสะเทือนภาคการเงินไทยมากนัก 

เพราะในช่วงตั้งแต่หลังวิกฤตต้มยำกุ้งที่ผ่านมานั้น ธนาคารพาณิชย์ได้ใช้บทเรียนจาก “วิกฤตสถาบันการเงิน” ในช่วงนั้น ซึ่งมีธนาคารพาณิชย์หายไปไม่ต่ำกว่า 6 แห่ง และปิดกิจการถาวร 56 ไฟแนนซ์ มาเป็นบทเรียนในการตั้งสำรองและบริหารจัดการหนี้เสีย และที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ทำได้ดีมาก และไม่มีใครตั้งข้อสังเกตถึงความอ่อนแอของระบบธนาคารพาณิชย์ 

อย่างไรก็ตาม เมื่อบทความนี้ออกมาในสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะงักงัน ส่งผลต่อรายได้ของทุกกิจการในประเทศให้ลดลง ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ รายกลาง รายเล็ก จนลงทั้งหมด และมีผู้ประกอบรายกลางและเล็กมากกว่า 50% ที่ออกมาระบุว่า จะอยู่ต่อได้จากนี้ไม่เกิน 3-6 เดือน หากไม่ได้รับการช่วยเหลือเพียงพอ

ทำให้ไม่แปลกใจที่จะมีหลายฝ่าย ตั้งข้อสังเกตุและแสดงความเป็นห่วง “พอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอี”ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่บางธนาคาร ที่ในช่วงก่อนหน้าเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีอันดับต้นๆ ของระบบ รวมทั้งเป็นห่วงฐานะของธนาคารพาณิชย์บางแห่งที่มีปัญหาเรื่องการเพิ่มทุนคาราคาซังในช่วงก่อนหน้า ว่าจะได้รับผลกระทบหากเกิดภาวะถล่มทลายของหนี้เอสเอ็มอี หลังหมดช่วง “พักหนี้” ในวันที่ 22 ต.ค.นี้หรือไม่

แต่อย่างไรก็ตามหากจะเทียบความเสี่ยงในการเกิด “หนี้เสีย” ในวันนี้ กับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง คงไม่มีใครจะบอกได้ไม่ชัดเจนว่า “ช่วงไหนมาความเสี่ยงมากกว่า” เพราะต่างก็มีเหตุผลที่ดีที่จะเป็นห่วงได้เช่นเดียวกัน 

และในความเห็นส่วนตัว อาจจะห่วงสถานการณ์วันนี้มากกว่าในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งอยู่บ้าง เพราะวิกฤตที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 เป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก ด้วยตัวของมันเอง ไม่ได้มีประเทศไหนเป็นต้นตอของวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ และแนวโน้มของของวิกฤตครั้งนี้ดูจะลากยาวมากกว่าทุกวิกฤตในประวัติศาสตร์ 

เพราะจะจบจริงๆ ได้ก็ต่อเมื่อ ทุกประเทศสามารถหยุดการระบาดได้ และเริ่มฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ ก่อน และเริ่มฟื้นสัมพันธ์การเดินทางระหว่างประเทศอีกครั้ง เห็นได้ชัดจากประเทศไทยเองที่หยุดโควิดได้แล้วใกล้จะครบ 3 เดือน แต่ยังไม่สามารถเปิดรับนักทองเที่ยวจากต่างประเทศได้ หลายธุรกิจที่สายป่านสั้นจะทนได้อีกนานแค่ไหน

แต่อย่างไรก็ตาม ข้อดีในวันนี้ คือ ธนาคารพาณิชย์มีความพร้อมที่จะรองรับหนี้เสียที่เกิดขึ้น ธปท.มีความชัดเจนที่จะเข้าไปแก้ปัญหาตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ และระบบโดนรวมมีกระบวนการในการป้องกันไม่ให้เกิดหนี้เสียได้เร็วกว่า มีหน่วยงานที่จะมารองรับ และเป็นตัวกลางในการเจรจาหนี้ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมกว่าในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ในขณะที่รัฐบาลเองยังมีแรงปั้มเงินออกมาเพื่อสร้างรายได้ และบรรเทาภาระคาใช้จ่ายของประชาชนในระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ เพื่อคลายความสงสัยว่า ฐานะของธนาคารพาณิชย์ไทยหรือธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในขณะนี้เป็นอย่างไร เรามาดูตัวเลขฐานะการดำเนินงานล่าสุด ของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา ตัวเลขธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า

อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) อยู่ที่ 18.79% สูงกว่าที่ ธปท.กำหนดที่ 8.5% และสูงกว่าประมาณ 9% ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 

และที่สำคัญตัวเลขของธปท.ระบุด้วยว่า ธนาคารขนาดกลาง และขนาดเล็กมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่สูงกว่าธนาคารขนาดใหญ่ ทั้งอัตราส่วนรวม และอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1

อัตราส่วนเงินสำรองที่มีอยู่ต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL coverage ratio) อยู่ที่ 144.1% สูงกว่าที่ธปท.กำหนดที่ 100% 

อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (LCR) 183.4% โดยทุกโดยธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งมีสัดส่วน LCR เกินกว่าเกณฑ์ปัจจุบันประมาณ 1 เท่าตัว ซึ่งเงินส่วนนี้ในช่วงก่อนหน้านี้ ไม่เคยคำนวณหรือต้องกันไว้ก่อน

ขณะที่ในฝั่งสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ต้องระมัดระวังไม่ให้กระทบต่อฐานะของธนาคารพาณิชย์ในอนาคต

ยอดคงค้างสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan: NPL หรือ stage 3) อยู่ที่ 3.09% ของสินเชื่อรวม หรือ 509,000 ล้านบาท

ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต (Significant Increase in Credit Risk: SICR หรือ stage 2) หรือสินเชื่อที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ อยู่ที่ 7.48%ต่อสินเชื่อรวม

โดยหากคิดกันแบบง่ายๆ ในกรณีเลวร้ายว่า สินเชื่อที่จับตาเป็นพิเศษ กลายเป็นหนี้เสียทั้งหมด 100% จากหนี้เสียประมาณ 3% อัตราส่วนของหนี้เสียจะพุ่งขึ้น อยู่ที่ประมาณ 11% ของสินเชื่อรวม ซึ่งถือว่าสูงแต่ก็ยังน้อยกว่า เมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งที่หนี้เอ็นพีแอลเคยพุ่งขึ้นไปมากกว่า 40% ของสินเชื่อรวม

ดังนั้น หากพิจารณาจากตัวเลขในภาพรวมระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในขณะนี้ ยังอยู่ในภาวะที่รองรับ “หนี้เสีย”ใหม่ที่จะเกิดขึ้นได้ หากมีการบริหารจัดการเร่งการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ให้ลูกหนี้ส่วนใหญ่ยังคงผ่อนส่งหนี้ได้ตามศักยภาพใหม่ที่มีต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า  รวมทั้งตัดจ่ายหนี้ที่ตามไม่ได้ ให้กับบริษัททวงหนี้ไปดำเนินการต่อ

อย่างไรก็ตาม จุดสำคัญของการเกิด “หนี้เสีย” ในช่วงต่อไปนี้ หลักใหญ่ยังคงเป็น “การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจไทย” ว่าจะเร็วได้มากน้อยแค่ไหน หรือจะเป็นลักษณะค่อยๆ ดีขึ้นแบบช้าๆ  ถ้าเศรษฐกิจไทยประคองตัวได้ คนไม่ตกงานมากกว่านี้มาก  รายได้ไม่ลดมากจนลูกหนี้ผ่อนหนี้ไม่ไหว ฐานะธนาคารพาณิชย์ก็ไปต่อได้ 

แต่ถ้า “ลูกหนี้” ไม่มีแรงผ่อนหนี้ แม้จะปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้วเมื่อไร แบงก์ไทยก็ลำบากแน่นอน