เปิดช่องโหว่มาตรการ“ชิมช้อปใช้”

  • ชาวบ้านแห่แย่งชิงสิทธิ์
  • นายทุนนอนรอดูดเงินเข้ากระเป๋า

มาตรการ ชิมช้อปใช้” ของรัฐบาลทำให้คนไทยไม่ได้หลับได้นอน ต้องคอยนั่งเฝ้ารอเวลาหลังเที่ยงคืน เพื่อฟาดฟันแย่งชิงสิทธิ์โควตาลงทะเบียนที่จำกัดไว้วันละ 1ล้านคน โดยกำหนดโควตาทั้งหมดไว้ที่  10 ล้านคน แต่ละวันโควตาเต็มอย่างรวดเร็วพอๆกับการแย่งชิงซื้อตั๋วคอนเสิร์ตศิลปินชื่อดังจากเกาหลี

“ขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนครบ 1 ล้านคนแล้ว กรุณาลงทะเบียนใหม่ในวันถัดไป หลายคนเห็นประโยคนี้ขึ้นที่หน้าจอในเว็บไซต์ที่รับลงทะเบียนแล้วคงแสลงใจ ต้องรอลุ้นหลังเที่ยงคืนในวันถัดไปอีกแล้วเรา

ความผิดพลาดและช่องโหว่ของโครงการนี้ปรากฏให้เห็นอยู่เรื่อยๆ เช่น ร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าบางอย่างที่ไม่เข้ากับระเบียบการใช้เงิน ก็ยังมีชื่อเข้าร่วมโครงการได้ จนต้องมาคัดกรองออกทีหลัง หลังจากมีข้อร้องเรียนเกิดขึ้น หรือบางคนที่มีเงินเข้ามาในกระเป๋าเงินของตัวเองแล้วก็ยังติดๆขัดๆใช้ได้บ้างไม่ได้บ้างเวลานำไปใช้กับทางร้านค้า ซึ่งบางร้านค้าก็ยังไม่เข้าใจขั้นตอน วิธีการใช้สิทธิ์

ทั้งหมดทั้งปวงสะท้อนให้เห็นว่า ความรีบร้อนนำมาซึ่งความวุ่นวาย ปัญหาและอุปสรรค ซึ่งก็ไม่ทราบว่าจะต้องรีบร้อนอะไรกันนักหนา มีใครได้ประโยชน์อะไรหรือไม่กับ ชิมช้อปใช้”เป็นประเด็นที่น่าขบคิด เช่นเดียวกับโครงการบัตรคนจนที่ให้ใช้ได้เฉพาะกับร้านค้าประชารัฐ มีคนที่ได้ประโยชน์ชัดเจน คือร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ประเภท “นกรู้”ทั้งหลาย รู้ก่อน ได้สิทธิ์ก่อน ร้านบ้านๆก้มหน้าก้มตาทำมาหากิน จบเห่เจ๊งกันไปตามๆกันครั้งนี้ก็เช่นเดียวกันดูจะรีบร้อนจนผิดสังเกต และน่าจะมี “นกรู้”เกิดขึ้นอีกเช่นเคย ย้อนกลับไปดูเวลาสำหรับการอนุมัติโครงการ “ชิมช้อปใช้”แล้วจะเห็นว่า “ขึ้นทางด่วน”เปิดหวอขอทางกันมาเลยทีเดียว 

โครงการ “ชิมช้อปใช้” ชื่อเต็มๆที่เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)คือ “มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิมช้อปใช้” ได้รับการอนุมัติจากครม.เมื่อวันที่ 20 ส.ค.2562 เป็นหนึ่งในแพ็คเกจ “มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2562” งบประมาณรวมเฉพาะโครงการนี้คือ 19,093.3 ล้านบาท 

แบ่งเป็นเงินสนับสนุนเพื่อการท่องเที่ยวคนละ 1,000 บาท 10 ล้านคน จำนวน 10,000 ล้านบาท เงินชดเชยเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวสำหรับค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่าที่พัก และสินค้าท้องถิ่น ที่ใช้จ่ายผ่านร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ 15%  แต่ไม่เกิน 4,500 บาทต่อคน รวมวงเงิน 9,050 ล้านบาท  ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกรมบัญชีกลาง 2 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของธนาคารกรุงไทย 6.5 ล้านบาท และค่าประชาสัมพันธ์โครงการ 35 ล้านบาท

จุดประสงค์ของโครงการถูกระบุไว้ว่า  “เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ และสนับสนุนการใช้จ่ายผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (g-Wallet)”

ดูเหมือนว่าทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือ “สภาพัฒน์”ก็เห็นช่องโหว่ ที่อาจจะถูกหยิบยกมาเล่นงานกันทางการเมืองได้ยาม “สิ้นอำนาจวาสนา” จึงติดเบรกเบาๆพอเป็นพิธี โดยให้ความเห็นประกอบในครม.เมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมาในวาระเดียวกับที่กระทรวงการคลังขออนุมัติแก้ไขรายละเอียดของโครงการชิมช้อปใช้ ว่า 

“ให้กระทรวงการคลังเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบถึงรายละเอียดของมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิมช้อปใช้”อย่างถูกต้อง ชัดเจน และทั่วถึง รวมทั้งให้ดำเนินการตรวจสอบและติดตามเพื่อให้เกิดการใช้จ่ายตามมาตรการดังกล่าวด้วย”

ข้ออ้างถึงความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ คงไม่มีใครคัดค้าน แต่วิธีการที่นำมาใช้ต่างหากที่จะต้องตอบโจทย์เรื่องการสร้างความยั่งยืน และการได้ประโยชน์อย่างทั่วถึง เพราะหากเงินเกือบ 20,000 ล้านบาท วิ่งไปรวมกันที่จุดสุดท้ายคือกระเป๋าตังค์ของ“พ่อค้า” ที่เป็น“นกรู้”เข้าร่วมโครงการ แต่ชาวบ้านร้านค้าทั่วไปเข้าไม่ถึงสิทธิ์ เงินก็จะกระจุกตัวอยู่แค่คนบางกลุ่มที่รวยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ไม่ต้องแปลกใจว่าที่ผ่านมา ทำไมชาวบ้านที่ตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินจึงบ่นกันอุบว่า เศรษฐกิจไม่ดี ค้าขายไม่ได้ คำตอบง่ายๆก็เพราะมีคน“พวกเดียวกัน” เข้าถึงความมั่งคั่งที่รัฐบาลหยิบยื่นให้เสมอมานั่นเอง ไม่ต้องไปโทษแบบระยะไกลว่าเป็นเพราะเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจแบบไทยๆนโยบายเอื้อนายทุนนี่แหละตัวดีเลย ชาวบ้านมีแต่จนเอาๆ 

แถมยังต้องอดตาหลับขับตานอนมาแย่งชิงสิทธิ์เงิน 1,000บาทกันเองอีก มันน่าอดสูใจยิ่งนัก

คนชายขอบ