เปิด“จุดตาย”เศรษฐกิจไทย

หากถามนักเศรษฐศาสตร์ เมื่อปี 2562 ถามว่า ปัจจัยไหน เป็นจุดตายของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมา คำตอบ หนีไม่พ้น “สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ” โดยการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าทั้งฝั่งสหรัฐฯ และฝั่งจีน ได้ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิต และการค้าทั่วโลกรุนแรงมากในปีที่ผ่านมา

แต่เมื่อเข้าสู่ปี 2563 การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของโรคระบาดใหม่ ที่เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่หรือเชื้อโควิด-19 ทำให้ทั้งจีน และสหรัฐฯ ต้องหยุด “สงครามการค้า” ไว้ชั่วคราว ต่างคนต่างหันไปทำสงครามกับเชื้อโรคในดินแดนของตัวเอง และผลกระทบของเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้เอง ที่ถือเป็น “จุดตาย”ของเศรษฐกิจทั่วโลกในปีนี้ โดยเฉพาะในภาคการเดินทาง ท่องเที่ยว ภาคการผลิต และภาคการส่งออก ที่ถูกกระทบให้ลดลงอย่างรุนแรง

การเดินทาง และท่องเที่ยวหยุดชะงัก เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด ขณะที่ภาคการผลิต พบปัญหาทั้งการหยุดผลิต เพราะที่ตั้งโรงงานอยู่ในพื้นที่ระบาด และการขาดแคลนวัตถุดิบ

โดยมีการคาดการณ์ความเสียหายจากผลกระทบของไวรัสตัวนี้ ไว้ในกรณีเบื้องต้นที่ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านล้านบาท (ไม่นับมูลค่าสินทรัพย์ที่ลดลง)

จากระบบเศรษฐกิจพึ่งพา วันนี้ ถูกตัดขาดออกจากกัน !!

สำหรับเศรษฐกิจไทย “จุดตาย”ในปีนี้ นอกเหนือจาก “ไวรัสโควิด” ที่ทำให้การท่องเที่ยวสะดุด การส่งออกน่าจะติดลบต่อเนื่องแล้ว ยังมีปัญหา “คนไม่ใช้จ่าย” ส่วนหนึ่งเพราะพิษไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดความวิตกกังวลอยากถือเงินไว้กับมือไม่อยากใช้จ่ายหรือลงทุน ขณะที่คนอีกส่วนหนึ่งเริ่มไม่มั่นใจรายได้ และตำแหน่งงานในอนาคต หลังจากที่พิษไวรัสโควิด-19 ส่อลากยาวไปถึงสิ้นปี

ขณะที่ปัญหาภัยแล้งปีนี้ที่คาดว่าจะรุนแรงมากที่สุดในรอบ 50 ปี ทำให้เกษตรกรมีเงินใช้จ่ายน้อยลง ส่วนภาระหนี้ครัวเรือนเดิมที่สูงมาก และส่อเค้าสูงขึ้นอีก เป็นอีกปัญหาที่กระทบความสามารถในการใช้จ่าย

ทั้งนี้ หลังจากที่คณะกรรมการรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ หรือ ครม.เศรษฐกิจ ประเมินภาวะเศรษฐกิจ และผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ล่าสุด เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (6 มี.ค.)

ประเมินว่า ผลกระทบของโควิด-19 น่าจะอยู่กับประเทศไทยในปีนี้อย่างน้อย 3 ไตรมาส และถ้าโชคดีเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่ 4 ส่วนตัวเลขเป้าหมายที่ต้องการให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปี 63 เติบโตได้อยู่ที่ 2% ทำให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดที่ 1 ออกมา โดยมีวงเงินประมาณ 100,000 ล้านบาท

และมีไม้เด็ดคือ การแจกเงินให้กับประชาชน ผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และเกษตรกร เดือนละ 1,000 บาทติดต่อกัน 2 เดือน ในเดือน เม.ย.และพ.ค.นี้

เพื่อปลด “จุดตาย” ของเศรษฐกิจไทย คือ การไม่ใช้จ่าย เพราะเห็นผลจาก “มาตรการชิม ชอป ใช้” ที่เฟสแรก แจกเงินให้ใช้คนละ 1,000 บาทประสบความสำเร็จ ทำให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม การหมุนเวียนของเงินที่ดี คือ การหมุนได้หลายๆ รอบ หากเงินถูกส่งผ่าน จากคนมีรายได้น้อยต่อเนื่องกันไป แต่หากเงินที่หมุนให้ใช้ไปสะดุดอยู่ที่ “รายใหญ่” แล้วเก็บใส่เชฟไว้ไม่ใช้ต่อ ประสิทธิภาพของเงินจำนวนนั้น จะลดลงทันที และในช่วงหลายปีนี้ เราจะเห็นได้ว่า ธุรกิจขนาดใหญ่แทบไม่มีการลงทุนใหม่ในประเทศ

นั่นเป็นเหตุผลให้ “ชิม ชอป ใช้” สร้างเงินหมุนเวียนได้ในประเทศในช่วงสั้น ๆ แต่ไม่เห็นแรงหมุนต่อที่ยั่งยืน

นอกจากนั้น หากย้อนไปดูผลของมาตรการรัฐ ซึ่ง ระบุว่า ตั้งแต่เดือน ส.ค.ปีที่ผ่านมา จนถึงเดือน ม.ค.ปีีนี้ มาตรการสารพัดในการประคองเศรษฐกิจ เช่น ให้สินเชื่อใหม่พักหนี้เก่า หักค่าใช้จ่ายลดภาษี ฯลฯ รัฐใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจในวงเงินรวมๆ ไปแล้วสูงมากถึง 500,000 ล้านบาท

แต่ผลออกมา คือ เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 โตเพียง 1.6% ต่ำที่สุดในรอบหลายปี

ที่สำคัญ แม้จะมีมาตรการให้เงินกู้เพิ่มเพื่อเสริมสภาพคล่องเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนของเอสเอ็มอีมากมาย ทั้งฝั่งกระทรงคลัง กระทรงอุตสาหกรรม แต่ ณ สิ้นปี ยอดคงค้างสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี กลายเป็นตัวเลขติดลบ แปลความหมายว่า เอสเอ็มอีไม่สามารถเข้าถึงเงินรัฐได้ แสดงถึงความล้มเหลวของมาตรการ

ดังนั้น อีกจุดตายของเศรษฐกิจไทยปีนี้ คือ “การบริหารเศรษฐกิจในช่วงวิกฤต” ของรัฐบาล

ซึ่งสำหรับงวดนี้ ไม้เด็ดที่เตรียมไว้ คือ การแจกเงิน 2,000 บาท ให้จำนวนคนที่คาดว่าจะมากกว่า “ชิม ชอป ใช้” ประมาณ 1 เท่าตัว จาก 10 ล้านเป็น 20 ล้านคน จากเงินตั้งต้น 10,000 ล้านเป็น 40,000 ล้านบาท

ทำอย่างไรดี ให้เงินหมุนไป และหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจได้หลายๆรอบ ทั้งหมดขึ้นกับวิธีแจก และขอบเขตเงื่อนไข และจะทำอย่างไรให้ “คนมีรายได้เพิ่ม” คงการจ้างงาน มีเงินกินใช้ต่อไป หลังจากใช้เงิน 2,000 บาทนี้หมดแล้ว

จับตา การประชุม ครม.นัดสำคัญวันที่ 10 มี.ค.นี้ให้ได้ แล้วมาช่วยกันประเมินอีกทีว่า จาก “เงินให้เปล่า” จะกลายเป็น “เงินเสียเปล่า” หรือไม่ หรือจะเป็นเงินกระชากวิญญาณเศรษฐกิจไทยให้กลับเข้าร่างเดิม