เปิดคลินิกโรคอุบัติใหม่และโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน

  • คัดกรองผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคระบาดแบบ One stop service
  • รองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ผู้เดินทางเข้าเมืองเพื่อรับการรักษา
  • เตรียมพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องทั้งผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต รัฐบาลจึงมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ และเตรียมพร้อมเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขยังคงให้ความสำคัญในการเฝ้าระวัง และดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 และโรคติดต่ออื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ โรคฝีดาษวานร โดยกรมควบคุมโรคได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข กรณีโรคฝีดาษวานร เพื่อเฝ้าระวังคัดกรองผู้เดินทางจากประเทศที่มีการระบาด ช่วยให้ตรวจวินิจฉัยกลุ่มเสี่ยงได้รวดเร็วขึ้น และสามารถป้องกัน ควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศได้

“คลินิกโรคอุบัติใหม่และโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน (EIDARIC) โรงพยาบาลเมดพาร์ค ถือเป็นความร่วมมืออันดีระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการทำให้ระบบสาธารณสุขของประเทศมีความเข้มแข็ง รับมือกับโรคระบาดต่างๆ รวมถึงช่วยเสริมพลังในการเฝ้าระวัง ดูแลรักษาผู้ป่วยจากโรคอุบัติใหม่และโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน โดยรองรับการให้บริการกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาจากนโยบายเปิดประเทศ และผู้ที่เดินทางเข้าเมืองเพื่อรับการรักษา (Medical Tourism) จากนโยบายการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ซึ่งคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น”

นพ.เกียรติภูมิ  กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยพยายามช่วยกันฟื้นฟูเศรษฐกิจและเปิดประเทศ ซึ่งโรงพยาบาลเมดพาร์ค มีระบบการรักษาพยาบาลที่มีมาตรฐาน จึงเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยดูแลนักท่องเที่ยวที่เข้ามาตามระบบ ช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศได้ ถือเป็นการช่วยกันทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ

ทั้งนี้ คลินิกโรคอุบัติใหม่และโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน (EIDARIC) เป็นคลินิกความดันลบ สร้างความปลอดภัยให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ และผู้รับบริการ มีระบบบริหารจัดการแบบ One stop serviceเพื่อคัดกรองผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคระบาดให้เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที มีการจัดพื้นที่ปลอดภัยในโรงพยาบาลเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่บุคคลอื่น โดยขณะนี้มีผู้เข้ารับบริการเฉลี่ย 35-45 รายต่อวัน