เทศกาลมหาสงกรานต์มีเฮ! ปตท.ประกาศตรึงราคาน้ำมัน

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. เปิดเผยว่า ในปีนี้สถานการณ์ราคาน้ำมันในประเทศเชื่อว่า จะลดลง เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคาพลังงานในตลาดโลกคลี่คลายลง ทำให้คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปีนี้เฉลี่ย 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลงจากปีก่อนที่ราคาเฉลี่ย 96 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวสงกรานต์ที่จะถึงนี้ ทางสถานีบริการน้ำมันพีทีที สเตชั่น จะตรึงราคาน้ำมัน และหากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลง จะปรับลดลงให้เช่นกัน เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้บริโภคและอำนวยความสะดวกผู้เดินทาง

“ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับการเก็บเงินเข้ากองทุนต่างๆ ด้วย เช่น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ขณะนี้ฐานะสุทธิยังติดลบกว่า 94,471 ล้านบาท , การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรน้ำมัน ที่กระทรวงการคลัง ยังลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ต้องดูทิศทางกันต่อไป”

ส่วนแผนการลงทุนปตท.จะเดินหน้าตามแผนใช้งบบประมาณในการลงทุน 5 ปี (66-70) ที่บอร์ดได้อนุมัติแล้ว 100,227 ล้านบาท โดยปี 66 จะลงทุน 33,344 ล้านบาท และได้เตรียมงบประมาณที่จะลงทุนในอนาคต เพิ่มเติมอีกประมาณ  302,168 แสนล้านบาท รวมประมาณ 402,395 ล้านบาท  ซึ่งปีนี้อยู่ระหว่างเจรจาทำสัญญาร่วมลงทุนหลายๆ รูปแบบ คาดว่า จะเสร็จอย่างน้อย 5 โครงการ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ จะเน้นไปที่กลุ่มธุรกิจใหม่ ขณะที่รายได้ปี 66 คาดว่า อยู่ที่ประมาณ 2 ล้านล้านปลายๆ ลดลงจากปี 65 ที่มีรายได้ประมาณ 3.36 ล้านล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 91,175 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไร 3.6% ซึ่งปีนี้ยังไม่สามารถระบุกำไรจะอยู่ที่ประมาณเท่าไร สาเหตุที่ปีนี้รายได้จะลดลงกว่าปี 65 เป็นผลจากราคาน้ำมันปีก่อน อยู่ในระดับสูง

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า สำหรับแผนการลงทุน 100,227 ล้านบาท เช่น การลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 36,322 ล้านบาท การลงทุนในบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% มูลค่า 32,773 ล้านบาท การลงทุนในธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ 18,988 ล้านบาท ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและสำนักงานหนึ่ง 8,828 ล้านบาท และธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และปิโตรเลียมขั้นปลาย 3,316 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจใหม่ของปตท.ตามมวิสัยทัศน์ใหม่ของปตท. ประกอบด้วย กลุ่มพลังงานแห่งอนาคต 4 กลุ่ม ได้แก่ พลังงานทดแทน ระบบกักเก็บพลังงาน แบตเตอรี่ ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และไฮโดรเจน ส่วนธุรกิจใหม่ที่ไม่ใช่พลังงาน ได้แก่ ธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต ทั้งยา อุปกรณ์ทางการแพทย์  ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม  และอื่นๆ ได้แก่ สินค้าที่มีมูลค่าสูง ซึ่งเป็นการต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเคมี ธุรกิจเกี่ยวกับการขับเคลื่อนและไลฟ์สไตล์ ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์

อย่างไรก็ตาม ปตท. มีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ใช่ไหมจากธุรกิจใหม่ 30% ในปี 73 โดยเฉพาะการมุ่งสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยปี 73 ภาพรวมการผลิตไฟฟ้า ปตท.จะมีกำลังการผลิต 20,000 เมกะวัตต์ เป็นผลิตพลังงานทดแทน 12,000 เมกกะวัตต์ เพิ่มจากปัจจุบันที่มีอยู่ 2,700 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากช่วง 1-2 ที่เราประกาศนโยบายตอนนั้นมีเพียง 400-500 เมกะวัตต์ ซึ่งตอนนั้นพอร์ตพลังงานทดแทนจะมากกว่าพลังงานคอนเวนชั่นนอลจะเหลือเพียง 8,000 เมกะวัตต์