เตือน!ผู้ป่วยวัณโรค กินยาครบสูตร ป้องกันวัณโรคดื้อยาหลายขนาน

  • กรมควบคุมโรค ย้ำอย่าหยุดยาเองอย่างเด็ดขาด
  • เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อวัณโรคดื้อยาหลายขนาน
  • ใช้ระยะเวลาในการรักษาประมาณ 6-8 เดือน

นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงปัญหาของโรควัณโรคว่า โรคนี้เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อแบคที่เรียที่มีชื่อว่ามัยโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซีส (Mycobacterium Tuberculosis) เกิดได้ทุกอวัยวะแต่ส่วนใหญ่จะเกิดที่ปอด สถานการณ์ขณะนี้มีแนวโน้มลดลง ในปีที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วยใหม่และผู้ขึ้นทะเบียนรักษารวมจำนวน 87,879 ราย ลดจากปี 2559 ที่มีจำนวน 119,000 ราย เสียชีวิต 6,802 ราย ปัญหาวัณโรคของไทยขณะนี้แยกเป็น 3 กลุ่มคือ ประชาชนทั่วไป วัณโรคดื้อยาหลายขนาน (Multi Drug Resistant Tuberculosis :MDR-TB) และวัณโรคในผู้ติดเชื้อเอชไอวีซึ่งมีจำนวน 6,798 ราย        

สำหรับในกลุ่มของผู้ป่วยวัณโรคดื้อยานั้น พบในผู้ป่วยรายใหม่ประมาณร้อยละ 2 ซึ่งปีที่ผ่านมาพบผู้ป่วย 1,221 ราย บางรายดื้อยาที่ใช้รักษาถึง 4 ขนาน สาเหตุสำคัญของเชื้อวัณโรคดื้อยาเกิดมาจากสองสาเหตุหลักคือ ผู้ป่วยกินยาไม่ครบตามสูตรที่แพทย์กำหนด  และกินยาไม่ต่อเนื่อง โดยมักเกิดขึ้นหลังจากที่ได้กินยารักษาไปแล้ว 2 สัปดาห์ อาการจะดีขึ้น ทำให้ผู้ป่วยคิดว่าหายแล้วจึงไม่กินยาต่อ ทำให้เชื้อที่อยู่ในปอดไม่ตาย และพัฒนาตัวเองเป็นชนิดดื้อยา และผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อชนิดดื้อยานี้สู่คนรอบข้างได้ จากการไอจามโดยเชื้อจะอยู่ในละอองน้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วย ส่งผลให้การรักษามีความยุ่งยากขึ้น ต้องใช้ยาที่แรงขึ้นและใช้เวลารักษานานขึ้น อย่างน้อย 20 เดือน และอัตราการรักษาหายขาดมีประมาณร้อยละ 50 เท่านั้น 

ด้านแพทย์หญิงผลิน กมลวัทน์ ผู้อำนวยการกองวัณโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า การป้องกันปัญหาเชื้อวัณโรคดื้อยาหลายขนาน สามารถทำได้ไม่ยาก โดยขอให้ผู้ป่วยวัณโรคทุกราย กินยาให้ครบตามจำนวนที่แพทย์สั่งรักษา อย่าขาดยาหรือหยุดยาเองอย่างเด็ดขาด และไปพบแพทย์ตามนัดจนกว่าแพทย์จะสั่งหยุดยา โดยยาที่ใช้รักษาในปัจจุบันมีประสิทธิภาพดีมาก ใช้ระยะเวลารักษาประมาณ 6-8 เดือน ซึ่งเร็วกว่าเดิมที่ต้องใช้เวลา 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี หากกินยาได้ครบถ้วน จะหายขาด100 %

สำหรับอาการของวัณโรค ประชาชนสามารถสังเกตอาการเด่นๆ ที่เป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ได้คือ มีอาการไอแห้งๆ ติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ขึ้นไป และมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น น้ำหนักตัวลด เจ็บหน้าอก ไอแล้วมีเลือดปนออกมาด้วย หรือมีไข้ต่ำๆ มักเกิดขึ้นในช่วงบ่ายๆ และค่ำ หากมีคนในครอบครัวหรือคนข้างบ้าน มีอาการดังกล่าว ขอให้พาไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านหรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทุกแห่งทั่วประเทศ เพื่อเข้าสู่ระบบการตรวจวินิจฉัยและรักษาโดยเร็ว และสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ

แพทย์หญิงผลิน กล่าวต่อไปว่า การป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นวัณโรค มีคำแนะนำดังนี้ 1.ควรตรวจสุขภาพ และเอ็กซเรย์ปอดทุกปี  2.เด็กแรกเกิดทุกคนต้องได้รับการฉีดวัคซีนบีซีจีเพื่อป้องกันวัณโรค  3.หากมีอาการสงสัยว่าจะเป็นวัณโรคตามอาการที่กล่าวมา ขอให้ไปตรวจที่สถานพยาบาลทุกแห่ง  4.รักษาสุขภาพให้แข็งแรง  5.ดูแลบ้านเรือนให้สะอาด อากาศหมุนเวียนถ่ายเทดี  6.หลีกเลี่ยงเข้าไปในสถานที่แออัด  7.หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี   8.ไม่คลุกคลีกับผู้ที่กำลังป่วยเป็นวัณโรค

 ส่วนผู้ที่ป่วยแล้ว ขอให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่คนอื่น กินยาให้ครบตามแพทย์สั่ง รับประทานอาหารได้ทุกชนิด งดดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และสารเสพติดทุกชนิด และให้ปฏิบัติตามคำแนะนำการป้องกันโรคโควิด 19 อย่างเคร่งครัด โดยการเว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล งดการรวมกลุ่ม งดออกนอกบ้าน เพราะหากผู้ป่วยวัณโรคติดเชื้อโควิด 19 จะทำให้มีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น