เตรียมพร้อม 5 ด้านรองรับเปิดประเทศ 1 พ.ย. “สาธาณสุข”​ย้ำกำกับมาตรการเข้มงวด

  • จัดทำแผนรองรับนโยบายเปิดประเทศ 1 พ.ย.นี้
  • เน้นย้ำกำกับมาตรการเพื่อลดโอกาสแพร่เชื้อ
  • ระบบสาธารณสุขรองรับได้ เพื่อคงบรรยากาศความสุขช่วงใกล้ปีใหม่

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดทำแผนรองรับนโยบาย “เปิดประเทศใน 120 วัน” ครั้งที่ 4/2564 ว่า นายกรัฐมนตรีมีนโยบายเปิดประเทศอย่างปลอดภัยวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ภายใต้ 3 รูปแบบ คือ เข้าประเทศไม่ต้องกักตัว 45 ประเทศ 1 เขตบริหารพิเศษ, การเข้าแซนด์บ็อกซ์ท่องเที่ยว 7 วัน และเข้ารับการกักตัวในสถานที่กำหนด 7-14 วัน ตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่ง 2 รูปแบบแรกเฉพาะผู้เดินทางทางอากาศเข้าประเทศที่ได้รับวัคซีนครบโดส มีผลตรวจ RT-PCR เป็นลบก่อนเดินทาง 72 ชั่วโมง มีประกันสุขภาพ 5 หมื่นเหรียญ มีหลักฐานการจองที่พัก และเมื่อมาถึงประเทศไทยได้รับการตรวจ RT-PCR วันแรกทันที ก่อนที่จะเดินทางต่อหรือท่องเที่ยวในพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ แต่หากไม่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์จะเข้าสู่รูปแบบการกักตัว โดยพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ท่องเที่ยว วันที่ 1 พ.ย. ได้กำหนดเพิ่มเป็น 17 จังหวัด

 “แม้ช่วงแรกอาจจะยังไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาจำนวนมาก แต่เนื่องจากหลายประเทศที่เปิดประเทศแล้วพบปัญหาการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ทั้งจากคนในประเทศหรือผู้เดินทางจากต่างประเทศ เพราะมีการเดินทางและใช้แรงงานเพิ่มมากขึ้นเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้น ต้องควบคุมกำกับมาตรการอย่างดี เพื่อลดความเสี่ยงการระบาดของโรค และคงบรรยากาศการท่องเที่ยวช่วงปลายปีที่มีวันหยุดและใกล้เทศกาลปีใหม่ ให้การติดเชื้ออยู่ในระดับที่ควบคุมได้และระบบสาธารณสุขรองรับได้”  

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขและศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร เตรียมความพร้อมการเปิดประเทศ โดยกระทรวงสาธารณสุขเตรียมความพร้อมใน 5 ด้าน คือ

 1.การเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค ตั้งแต่ขั้นตอนลงทะเบียนก่อนเดินทาง ขั้นตอนการตรวจสอบที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ และการเดินทางจากท่าอากาศยานจนถึงโรงแรมในลักษณะปิด (Sealed Route) และการตรวจหาการติดเชื้อในประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้เดินทางเข้าประเทศผ่านกระบวนการและไม่มีการติดเชื้อ อีกทั้งมีความปลอดภัยเมื่อท่องเที่ยวในประเทศไทย  นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนวัคซีนให้จังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว เพื่อฉีดให้ประชาชนให้ครอบคลุมเพียงพอเป็นการควบคุมการระบาดและสร้างความมั่นใจให้ทุกภาคส่วน

2.การตรวจทางห้องปฏิบัติการ สำหรับตรวจหาเชื้อโควิด 19 ในผู้เดินทางเข้าในประเทศอย่างรวดเร็วแม่นยำ และการตรวจสายพันธุ์กลายพันธุ์
3.มาตรการ COVID Free Setting ในสถานประกอบการพื้นที่เปิดรับนักท่องเที่ยว ต้องประเมินตนเองผ่าน Thai Stop COVID Plus มีใบรับรองและ QR Code ที่ให้ประชาชนสแกนเพื่อตรวจสอบและประเมินร้องเรียนได้ และมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมตรวจประเมินทุก 2 สัปดาห์
4.ด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยปรับรูปแบบการรักษาพยาบาลที่สอดคล้องกับสถานการณ์ ให้สถานพยาบาลประเมินตนเอง พร้อมเข้าสู่การแพทย์วิถีใหม่ ป้องกันการติดเชื้อในสถานพยาบาล
5.เวชภัณฑ์และการส่งกำลังบำรุง ซึ่งขณะนี้มียาฟาวิพิราเวียร์ 26.2 ล้านเม็ด ยาเรมเดซิเวียร์ 74,284 ขวด และเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ภาพรวมคงคลังประมาณ 3-6 เดือน และสามารถจัดหายาและเวชภัณฑ์เพิ่มเติมต่อเนื่องตลอดเวลา