เตรียมตัวกันไว้เลย!…คมนาคมจ่อปรับค่าโดยสารรถแท็กซี่ เดือน ธ.ค.นี้

เตรียมตัวกันไว้เลย คมนาคมจ่อเคาะปรับค่าโดยสารรถแท็กซี่ เดือนธ.ค.นี้ พร้อมสั่ง ขนส่งทางบกเร่งเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน ปรับสภาพรถ ก่อนปรับ วอนเห็นใจแท็กซี่คนหาเช้ากินค่ำไม่ได้ปรับราคามากว่า 8 ปี  สวนทางต้นทุนเชื้อเพลิง ค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีการพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารสำหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน (แท็กซี่มิเตอร์) ที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานครว่า ในช่วงที่ผ่านมาทางผู้ประกอบการรถสารธารณะแท็กซี่โดยสารได้มีการยื่นข้อเสนอเพื่อปรับขึ้นค่าโดยสาร  มายังกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เนื่องจากมีต้นทุนเพิ่มขึ้น รายได้ไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน เบื้องต้นกระทรวงฯ ทราบว่าเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณา และได้มีนโยบายให้ ขบ.เปิดรับฟังความคิดเห็นจากเวทีสาธารณะเพื่อให้การพิจารณาเรื่องนี้รอบคอบมากขึ้น

ทั้งนี้ที่ผ่านมา ขบ.มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น เช่น สภาคุ้มครองผู้บริโภค นักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งสาธารณะ และองค์การนอกภาครัฐ (NGO) เป็นต้น ซึ่งได้ข้อสรุปความเห็นของทุกฝ่ายตรงกันว่า ให้มีการพิจารณาปรับอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่ เนื่องจากดัชนีผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้น 7% จาก 5 ปีก่อน หรือ ตั้งแต่ปี 2560 ขณะที่กว่า 8 ปี ตั้งแต่ปี 2557 – 2565 รถแท็กซี่ยังคงใช้อัตราค่าโดยสารเดิมอยู่ ซึ่งสวนทางกับอัตราค่าเชื้อเพลิงและค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่โดยส่วนตัวนั้นได้มอบนโยบายให้ ขบ.ศึกษาเรื่องนี้อย่างรอบคอบก่อน โดยให้ดำเนินการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมอีก 2 ครั้ง ในเดือน ก.ย.และ ต.ค.นี้ ทั้งในรูปแบบเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น และรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้ได้ความเห็นที่ครอบคลุมทุกกลุ่มผู้บริโภค

“การปรับขึ้นค่าโดยสาร หากดัชนี CPI มีการปรับขึ้น ค่าโดยสารก็ต้องเพิ่มขึ้น แต่ถ้าในกรณีดัชนีลดลง ค่าโดยสารก็ต้องปรับตัวลดลงตามไปด้วย และเรื่องนี้ต้องศึกษาถามความเห็นให้รอบด้าน ผมไม่อยากเดินหน้าแล้วมีคนมาบอกว่าทำไมไม่ทำถึงตรงนั้นตรงนี้”

ขณะเดียวกัน หากจะมีการปรับขึ้นค่าโดยสารก็ต้องควบคู่มากับการพัฒนาคุณภาพบริการ เพราะหากรถบริการได้คุณภาพเชื่อว่าราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นประชาชนก็ยอมจ่าย ทั้งนี้ การพิจารณาค่าโดยสารเชื่อว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.นี้ แต่หากท้ายที่สุดไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ส่วนตัวก็คงไม่สามารถอนุญาตให้พิจารณาปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารได้

นายศักดิ์สยาม กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันพื้นที่ในกรุงเทพฯ และ ปริมณฑล มีระบบขนส่งมวลชน อีกหลายทางเลือกที่จะให้ประชาชนใช้บริการ เช่น เรือ รถไฟฟ้า เป็นต้น อีกทั้งปัจจุบัน ขบ.ได้เริ่มนำรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า (อีวี) ให้บริการแล้วจำนวน 153 คัน เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา และตั้งเป้าเปิดให้บริการรถเมล์อีวีจำนวน 1,250 คัน ภายในปีนี้ ส่วนองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) และบริษัท บขส. จำกัด อยู่ระหว่างดำเนินการในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้นยังมีนโยบายที่จะให้นำรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า (อีวี) มาให้บริการเป็นรถแท็กซี่ด้วย โดยกระทรวงฯ ได้ตั้งเป้าหมายว่าการให้บริการรถสาธารณะ รูปแบบเดิมที่เป็นมลพิษทางอากาศจะหมดไปภายใน 3 ปี

ด้านนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร สำหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน เผยว่า สืบเนื่องจากมีข้อเรียกร้องจากผู้ขับรถแท็กซี่มาขอเสนอให้ปรับอัตราค่าโดยสารแท็กซี่เพิ่มขึ้น  เนื่องจากไม่มีการปรับมากว่า 8 ปี  ซึ่งสวนทางกับอัตราค่าเชื้อเพลิงและค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น ดังนั้นทางกระทรวงคมนาคม จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อพิจารณาค่าโดยสารที่เหมาะสม และศึกษาผลกระทบ 

นอกจากนี้ทาง TDRI ได้มีการศึกษาแล้วพบว่า ประชาชนเดินทางด้วยระยะทางที่สั้นลง เที่ยววิ่งในการให้บริการเดินรถน้อยลง ส่งผลให้ต้นทุนการเดินรถสูงขึ้น รายได้ของผู้ขับรถแท็กซี่จึงลดน้อยลง เป็นผลให้จำนวนผู้ให้บริการรถแท็กซี่ลดน้อยลง โดยมีรถแท็กซี่ที่ให้บริการจริงประมาณ 60,000 คัน/วัน จากจำนวนรถทั้งสิ้น 80,000 คัน หรือคิดเป็น 75% ของรถแท็กซี่ทั้งหมด ซึ่งรายได้ของผู้ขับรถแท็กซี่มีทิศทางสวนทางกับค่าครองชีพในปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นระหว่างปี 57-65 พบว่ามีอัตราเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 7%

นอกจากนี้ทางคณะทำงานฯ จึงได้มอบหมายให้ กรมการขนส่งทางบก นำข้อมูลมาเปิดรับฟังความคิดเห็น โดยยืนยันว่าจะมิให้มีผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนที่เกินกว่าดัชนีผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย อีกทั้งจะต้องปรับปรุงคุณภาพการให้บริการด้วย