เตรียมกำหนดกำไรราคายารพ.เอกชนปีหน้า

  • พาณิชย์จับมือผู้เชี่ยวชาญจัดทำแนวทางดำเนินการ
  • ยันพิจารณาตามเงินลงทุน-บริหารจัดการแต่ละรพ.
  • ย้ำต้องประกาศใช้หลายอัตราเพื่อความเป็นธรรม

นายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมและผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ได้ร่วมกันประเมินสถานการณ์การจำหน่ายยาของโรงพยาบาลเอกชน พบว่า โรงพยาบาลเอกชนที่มีเครือข่าย หรือมีสาขาจำนวนมาก จะขายยาแพงกว่าโรงพยาบาล ที่ไม่มีเครือข่าย หรือไม่มีสาขา ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะตามหลักการแล้ว โรงพยาบาลที่มีเครือข่ายมากจะมีต้นทุนในการซื้อยาที่ถูกกว่า เนื่องจากการสั่งซื้อยาปริมาณมากๆ จากผู้ผลิต จะได้ราคาถูกกว่าการซื้อปริมาณน้อย ดังนั้น กรมอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อพิจารณาแนวทางในการกำหนดส่วนต่างของต้นทุน และราคาขาย หรือกำไรในการขายยาแต่ละชนิดของโรงพยาบาลเอกชน คาดว่า จะมีความชัดเจนในปี 63

“การกำหนดส่วนต่าง หรือเปอร์เซ็นต์ที่ห้ามขายเกินจากต้นทุนนั้น วิธีการทำ คงต้องแบ่งยาออกเป็นหลายกลุ่ม เช่น ยาราคาต่ำเม็ดละไม่กี่บาท, ยาราคาแพง, ยาหายาก, ยาที่ใช้กันน้อยแต่จำเป็นต้องมี เป็นต้น เพราะหากจะกำหนดส่วนต่างในอัตราเดียวกันหมด จะทำให้ยาราคาถูกได้รับผลกระทบ เช่น ต้นทุนเม็ดละ 50 สตางค์ หากกำหนดห้ามเกิน 100% หรือเม็ดละ 1 บาทก็ยังไม่กระทบต่อผู้ป่วยมากนัก แต่หากเป็นยาแพงต้นทุนเม็ดละ 100,000 บาท หากกำหนดห้ามเกิน 100% ราคาจำหน่ายก็จะเป็น 200,000 บาท ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ป่วยมาก ดังนั้น การกำหนดเปอร์เซ็นต์ส่วนต่างก็จะมีหลายอัตราตามกำหนดที่กรมกำลังพิจารณา”

อย่างไรก็ตาม ในการกำหนดส่วนต่างนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่โรงพยาบาลเอกชนและผู้ป่วย กรมจะนำเรื่องของการลงทุน ค่าบริหารจัดการของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่งมาพิจารณาด้วย แต่คงต้องหารือเรื่องหลักในการคำนวณกับผู้เชี่ยวชาญอีกครั้ง