เดินหน้าส่งเสริมให้ประชาชนแรงงานนอกระบบเข้าถึงการออมได้ครอบคลุมทุกพื้นที่

  • บูรณาการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย
  • ให้มีเงินบำนาญกับ กอช.
  • ใช้ในยามเกษียณหลังอายุ 60 ปี

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญการออม เพื่อการเกษียณ เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ในการพัฒนาระบบการออม ให้ทั่วถึง เพื่อเตรียมความพร้อมสู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ สอดคล้องเป็นไปตามแผนนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม รวมทั้งแผนปฎิรูปประเทศด้านสังคม ประเด็นปฎิรูปที่ 1 กำหนดการปฏิรูปการออม สวัสดิการสังคม และการลงทุนเพื่อสังคม โดยหนึ่งในกิจกรรมที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชน คือ ระบบการออมเพื่อสร้างหลักประกันรายได้หลังวัยเกษียณที่เพียงพอและครอบคลุม ในกลุ่มแรงงานทั้งในและนอกระบบ ซึ่งตรงตามภารกิจหลักของกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) อีกทั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความสำคัญ และพร้อมผลักดันความรอบรู้ทางการเงินของประชาชนไทย (Financial Literacy) เป็นวาระแห่งชาติ และจัดทำแผนแม่บทส่งเสริมความรอบรู้ทางการเงินของประเทศไทย

ทั้งนี้กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. ได้ดำเนินการให้ความรอบรู้ทางการเงินให้เป็นไปตามภารกิจของ กอช. ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ในการลงพื้นที่ให้ความรู้ประชาชน โดย กระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ในการส่งเสริมความรู้ด้านการวางแผนทางการเงินให้กับประชาชน ได้ตระหนักถึงการออม และบริหารจัดการเงิน โดยที่ผ่านมา กอช. ได้ให้ความรู้ด้านบริหารการเงินแก่ หัวหน้าส่วนราชการในแต่ละจังหวัด ผู้บริหารสถานศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าใจรายละเอียด กอช. เกิดการถ่ายทอดความรู้ต่อยอดได้อย่างถูกต้อง

นอกจากนี้ กอช. ได้เปิดรับตัวแทน กอช. ประจำหมู่บ้าน ผ่านที่ว่าการอำเภอ โดยมีเป้าหมายสร้างตัวแทน กอช. ประจำหมู่บ้าน ให้ครอบคลุมทั่วประเทศกว่า 74,000 หมู่บ้าน ซึ่งในปี 2565 มีตัวแทน กอช. ประจำหมู่บ้าน จำนวน 35,000 คน มีบทบาทให้คำปรึกษาการออมเงินกับ กอช. แก่ประชาชนในหมู่บ้าน ทั้งการรับสมัครสมาชิก ส่งเงินออมสะสม แจ้งสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากการเป็นสมาชิก กอช. 

นายกฤษฎา กล่าวว่า ในปี 2565 กอช. ได้มุ่งพัฒนาสร้างวินัยการออมให้ประชาชน อันเป็นปัจจัยความสําเร็จในการสร้างรากฐานการพัฒนาประเทศที่มั่นคง และสร้างหลักประกันเงินออมไว้ใช้ในยามชราภาพ ควบคู่กับการพัฒนาทักษะความรอบรู้ทางการเงินให้กับประชาชน สมาชิก ตัวแทน กอช. และหน่วยงานเครือข่ายความร่วมมือ โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนไทยที่มีอายุระหว่าง 15 – 60 ปี ที่เป็นแรงงานนอกระบบ สามารถมีบำนาญใช้ในยามเกษียณเหมือนข้าราชการ

และเนื่องในวันที่ 31 ตุลาคม ของทุกปี ถือเป็น “วันออมแห่งชาติ” ซึ่งการสร้างเสริมวินัยการออมให้กับประชาชน ถือเป็นหนึ่งในเรื่องหลักที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ในปีนี้ กอช. ได้จัดให้มีการมอบรางวัลแก่หน่วยงานภาคีเครือข่ายที่ร่วมส่งเสริมการออมกับ กอช. จำนวน 31 รางวัล ประกอบด้วย ประเภทรางวัลเกียรติยศ ประเภทรางวัลหน่วยงานการศึกษาที่มีผลการดำเนินงานดีเด่น ประเภทรางวัลระดับจังหวัด และประเภทรางวัลระดับเครือข่ายที่มีผลการดำเนินงานดีเด่น ในช่วงเดือนมกราคม – กันยายน 2565 เพื่อเป็นเกียรติแก่หน่วยงานความร่วมมือที่ร่วมกันส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนมีวินัยในการออมเงินไว้ใช้ในวัยเกษียณกับ กอช.