เช็ค 5 อาการบอกเหตุ คุณกำลัง “วิตกกังวล” เกินไปหรือเปล่า

เชื่อว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างทุกวันนี้ กำลังส่งผลให้พวกเราทุกคนอยู่ในสภาพที่มีความเครียด และวิตกกังวล  บางคนทำอะไรไม่ถูก ไม่กล้าออกจากบ้าน ขณะที่อีกหลายคนอาจกำลังวิตกกังวลกับงานที่ไม่มั่นคง กังวลปัญหาครอบครัว หรือวิตกกังวลกับเศรษฐกิจที่ตกสะเก็ด ซบเซาต่อเนื่อง

แต่คุณรู้ใช่ไหมว่า “ความวิตกกังวล” ที่มากเกินไป อาจจะไปกระตุ้นให้คุณกลายเป็น “โรควิตกกังวล” ซึ่งรุนแรงมากกว่า ความวิตกกังวลธรรมดาได้ ส่งผลการดำรงชีวิตของคุณเอง รวมทั้ง อาจรุนแรงจนกลายเป็นโรคทางจิตเวชได้ หากไม่ได้รับการแก้ไขที่เหมาะสม

Sad man sitting on couch at home

แต่สัญญาณที่จะบอกเกตุ ว่า คุณกำลัง “วิตกกังวลมากจนเกินไป” และถึงเวลาที่จะผ่อนคลาย ทำใจให้เย็นลง หาอย่างอื่นที่ชอบทำ หรือ หาเพื่อนคุย เพื่อละจากสิ่งเร้า หรือปัญหาที่กังวลอยู่ มีอะไรบ้าง ลองมาเช็คอาการกันว่า 5 อาการที่แสดงว่า คุณวิตกกังวลเกินไป ว่ามีอะไรบ้าง

เพื่อหาทางแก้ปัญหาเป็นขั้นเป็นตอน หรือ แก้ไม่ได้ก็สามารถรับมือกับสถานการณ์เกิดขึ้นได้อย่างใจเย็น

ข้อที่ 1 กระสับกระส่าย หงุดหงิด

หากคุณเริ่มมีอาการหวาดระแวง กลัว ไม่สบายใจ ไม่สามารถอยู่อย่างสงบได้ กระสับกระส่าย กระวนกระวาย หงุดหงิด จนทำให้การทำงาน หรือชีวิตประจำวันเปลี่ยนไป ควรเริ่มตั้งสติ หายใจลึกๆ ผ่อนคลายร่างกาย พยายาม “คิดบวก” หรือ มองปัญหาในอีกมุมดู เผื่อจะทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นบ้าง

depressed women sitting in the dark room, alone, sadness, emotional concept

ข้อที่ 2 เหม่อลอย ไม่มีสมาธิ 

จากที่เคยทำงาน หรือมีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ชอบได้นานๆ วันนี้ คุณรู้สึกว่า สมาธิสั้นลง ไม่สามารถจดจ่อกับอะไรได้ เพราะมีความรู้สึกกังวลค้างอยู่ในใจ หรือบางทีคิดมากจนมีอาการเหม่อลอย ให้รีบดึงสติกลับมาด่วน แล้วลองมองให้ชัดเจนว่า ความวิตกกังวลของคุณมาจากอะไร แล้วค่อยๆ หาทางแก้ไขที่ละเปลาะด้วยใจร่มๆ เย็นๆ

ข้อที่ 3 ย้ำคิดย้ำทำ 

     ความวิตกกังวลที่ต่อเนื่อง อาจจะทำให้คุณเกิดอาการย้ำคิด ย้ำทำ คิดซ้ำไปซ้ำมา ทำซ้ำไปซ้ำมา ซึ่งจะพบบ่อยในคนวัยทำงาน เช่น ไม่แน่ใจว่าล็อคประตูบ้าน ล็อกรถหรือยัง จนต้องเดินกลับไปดู  หรือคิดว่าตัวเองปากไม่สะอาด มือไม่สะอาด ทำให้ต้องล้างมือ หรือล้างปากวันละสิบรอบ แม้คุณอาจคิดว่าเรื่องเหล่านี้ไม่เป็นปัญหา แต่ขอรู้ไว้ว่า คุณกำลังมีอะไรในใจที่ทำให้วิตกังวลและควรหาทางแก้ไขโดยเร็ว

ข้อที่ 4 อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ หรือนอนหลับไม่สนิท

ผลจากความวิตกกังวลที่มากเกินไป ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการอ่อนล้า อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย จนไปจนถึงนอนไม่หลับ ดังนั้น พยายามหาอะไรที่ชอบ หรือผ่อนคลายทำเพื่อลดความเครียดที่สะสมอยู่ และหลีกเลี่ยงการดื่ม ชา กาแฟ น้ำอัดลม รวมทั้ง เครื่องดื่มชูกำลัง ที่อาจจะทำให้ตื่นตัวหรือ นอนไม่หลับมากขึ้น

ข้อที่ 5 กล้ามเนื้อตึง มือสั่น ใจสั่น

ความเครียด และความวิกตกกังวลที่มากเกินไป อาจจะมีผลต่อร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อที่คอ และหลังปวดตึงติดต่อกันเป็นเวลานาน เกิดอาการมือสั่น ใจสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งถือว่า เป็นอาการที่เริ่มรุนแรง 

หากเกิดอาการทั้ง 5 ข้อเหล่านี้ และไม่สามารถลดหรือแก้ไขด้วยตัวเองได้ การไปปรึกษาแพทย์ หรือโทรไปขอคำแนะนำที่จากสายด่วนสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต โทร 1323 ซึ่งเปิดรับสาย 24 ชม.ไม่ได้เป็นเรื่องที่ต้องอาย แต่จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้คุณสบายใจขึ้นได้