เช็คความเสี่ยงคลายล็อกดาวน์ครั้งที่ 1

ถือเป็นข่าวดีสำหรับใครหลายคน เพราะหากตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ของไทยในช่วงนี้ ไม่พุ่งพรวดพราดขึ้นไปทำสถิติใหม่ หลังจากที่ทำสถิติสูงสุดไว้ที่ 23,418 รายต่อวัน เมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา และเริ่มลดลงต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุด ค่าเฉลี่ย 7 วันของผู้ติดเชื้อใหม่ของไทยอยู่ที่ 18,000 ++ ต่อคนต่อวัน

วันที่ 1 ก.ย.นี้ รัฐบาลจะเริ่มการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ครั้งที่ 1 ซึ่งจะทำให้หางสรรพสินค้า และร้านค้าปลีกในห้างกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง จนถึงเวลา 20,00 น. ประชาชนสามารถออกกำลังกายในสวนสาธาณะได้มากขึ้น และที่รอคอยกันคือ การเปิดให้นั่งรับประทานอาหารในร้าน และเปิดร้านตัดผม

โดยหากเป็นร้านอาหารที่ติดแอร์ ไม่ว่าจะอยู่ในห้างหรือนอกห้าง ให้เปิดให้คนเข้ารับประทานได้ 50% ของจำนวนที่นั่ง คิดเอาแบบง่ายๆ ว่า โต๊ะเว้นโต๊ะ ขณะที่หากเป็นแบบแอร์ธรรมชาติ ไม่ติดแอร์ สามารถเพิ่มจำนวนโต๊ะได้เป็น 3 ใน 4 ของโต๊ะเดิม หรือ 75%

และอีกอย่างที่หลายคนพร้อมจะไปใช้บริการคือ ร้านตัดผม โดยในช่วงแรกนี้ให้เฉพาะตัดผมอย่างเดียว ครั้งละไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อคน และหากใครเป็นชอบนวด ต้นเดือน ก.ย.นี้ จะเปิดให้นวดเฉพาะเท้าก่อนเป็นอย่างแรกเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงกำหนดเวลาเคอฟิวไว้ตามเดิมที่ 21.00-04.00 น.และห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร รวมทั้งยังขอความร่วมมือในการงดเดินทางข้ามจังหวัดในกรณีที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนไว้เช่นเดิม

ทั้งนี้ หากสามารถคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ไม่ให้เพิ่มขึ้นได้ ก็จะคงใช้มาตรการตามนี้ต่อไปอีกระยะ แต่หากตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ยังคงมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ก็มีโอกาสที่จะปรับลด หรือผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เพิ่มมากขึ้น

สำหรับเสียงตอบรับของการผ่อนคลายมาตรการดังกล่าว ยังคงมีทั้ง 2 ฝั่ง
ฝั่งหนึ่งที่มองว่า เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อผ่านนจุดสูงสุดของรอบนี้มาได้แล้ว รัฐบาลก็สามารถที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการได้บ้าง แต่ต้องอยู่ในการดำเนินการตามมาตรการ D-M-H-T การเร่งฉีดวัคซีน และการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มงวด

ในขณะที่ฝั่งที่ยังมีความเป็นห่วง ระบุว่า แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวันถึงจะมีแนวโน้มลดลง แต่เป็นการลดลงภายใต้มาตรการควบคุมที่เข้มงวด และจริงๆ แล้วจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันเฉลี่ยที่ 18,000 คนต่อวันนั้น ยังอยู่ในระดับที่สูงอยู่มาก ดังนั้น ไหนๆ ยอมเจ็บกับการล็อกดาวน์มาแล้วกว่า 2 เดือน ควรจะใจเย็นอีกนิด และรอให้เห็นผลที่ชัดเจนมากกว่านี้ก่อน

ผู้อ่านอยู่ฝั่งไหนก็สุดแต่ละเลือกกัน แต่หากให้มองทางเศรษฐศาสตร์ จุดเสี่ยงของการผ่อนคลายมาตรการครั้งที่ 1 นี้ ยังคงเป็น 2 เรื่องหลัก ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากทุกคนเป็นห่วงกันมาโดยตลอด นั่นคือ

1.ความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดและความสามารถในการรองรับผู้ป่วยสีเหลือง และสีแดง หรือ การรับผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในระบบโรงพยาบาลของระบบสาธารณสุขไทย และเรื่องที่ 2.คือ ความสามารถในการจัดหาและกระจายวัคซีนได้อย่างเพียงพอ ที่จะลดการติดเชื้อใหม่ หรือดีขึ้นไปอีกคือ มากเพียงพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

โดยเรื่องแรก ในช่วงก่อนหน้าที่จะมีผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในรอบนี้นั้น ภาคเอกชนได้มีข้อเสนอในการดูแลมาตรฐานด้านการสาธารณสุขในการเปิดกิจการอย่างเข้มงวด เช่น ประชาชนที่เข้ามาใช้บริการในห้างได้ จะได้เป็นผู้ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม หรือมีผลตรวจเทสโควิด-19 เป็นลบ และจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการที่ 5 ตรม.ต่อคน

นอกจากนั้น ยังมีการสร้างระบบการทำงานในโรงงานที่เข้มงวดขึ้น เช่น ในลักษณะ Bubble & Seal โดยให้พักอาศัยในที่ทำงานเป็นช่วงๆ มีการตรวจเชื้อทุกสัปดาห์ และให้พักกลับบ้าน และก่อนกลับมาทำงานอีกครั้งจะต้องมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ก่อน

แต่เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการแล้ว การบังคับใช้กฎเกณฑ์หล่านี้ จะยังเข้มงวดอยู่ไหม ทำได้จริงในทางปฏิบัติแค่ไหน นั่นคือความเสี่ยง

ในที่สุดจะลดความเข้มงวดของคนที่เข้าห้างได้เหลือฉีดวัคซีน 1 เข็มหรือไม่ หรือยอมรับผลตรวจที่เช็คมาแล้วกี่วัน หรือสุดท้ายแค่ตรวจวัดอุณหภูมิเหมือนเดิม แล้วสามารถใช้บริการได้

ขณะที่ในส่วนของระบบสาธารณสุขของไทยนั้น ในขณะนี้ยังอยู่ในสถานะเกินพิกัด และกว่าที่จะสามารถพูดได้ว่า “เอาอยู่” คงต้องใช้เวลาอีกระยะใหญ่ เพราะผู้ติดเชื้อใหม่ในระดับ 18,000 คนต่อวันนั้น ยังเกินศักยภาพของการรับมือของระบบสาธารณสุขไทยอยู่มาก

ส่วนที่ 2 กรณีการจัดหา และกระจายฉีดวัคซีน ล่าสุด วันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ฉีดวัคซีนเข็มแรก 29,504,769 คน คิดเป็น 31.5% ของจำนวนประชาชน แต่หากเป็นผู้ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม จะลดลงเหลือ 9.5% ของจำนวนประชากรเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ข้อที่ไม่น่าเป็นห่วงเลย คือ การกระจายวัคซีน หรือ การเร่งฉีดวัคซีนของไทย ซึ่งถือว่าทำได้ในขั้นที่ดี ถึงดีมาก โดยยอดเฉลี่ยล่าสุด ในช่วงเดือน ส.ค.มีการฉีดวัคซีนอยู่ที่ประมาณ 500,000 โดสต่อวัน และวันที่สูงสุด เราทำได้ประมาณ 900,000 กว่าโดสต่อวัน หรือเฉียด 1 ล้านโดส เพียงแต่ขอให้มีวัคซีนฉีดเท่านั้น

และที่สำคัญมากกว่านั้นคือ วัคซีนที่เรามีให้ฉีดควรจะต้องเป็นวัคซีนที่มีคุณภาพเพียงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อได้ในระดับมาตรฐาน เพื่อให้การเร่งฉีดวัคซีนสามารถสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่” หรือการลดการติดต่อของโรคลงได้อย่างแท้จริง การป้องกันป่วยหนักหรือตายได้ อาจจะไม่ได้ถือว่าเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้อย่างสมบูรณ์ตามที่คาดหวังไว้

ทั้งนี้ หากหันไปดูประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่าง ประเทศมาเลเซีย อินโดนิเซีย ซึ่งจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน และอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าประเทศไทย มีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มข้นกว่าไทย แต่การขยายตัวของเศรษฐกิจ มาเลเซีย และอินโดนิเซียในไตรมาสที่ 2 ปีที่ผ่านมา อยู่ในลักษณะการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นมาก

บทวิเคราะห์เศรษฐกิจของมาเลเซีย นักวิเคราะห์ให้ 2 เหตุผลที่ทำให้การใช้จ่ายภาคเอกชนในประเทศของมาเลเซียยังไปได้ดี ประการแรก นักวิเคราะห์ชี้ว่าผู้บริโภคและธุรกิจมาเลเซียปรับตัวได้ดี เนื่องจากเขาผ่านการระบาดหนักๆมารอบหนึ่งแล้ว และเริ่มปรับตัวให้สามารถอยู่กับโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ได้มากขึ้น

ซึ่งกรณีนี้ต่างกับไทยที่ 2 รอบแรกเป็นการระบาดแบบอนุบาล และข้ามมามหาวิทยาลัยเลย โดยไม่ผ่านชั้นมัธยม ทำให้รายได้และการใช้จ่ายของคนไทยลดลงอย่างรวดเร็ว

ส่วน ประการที่สอง นักวิเคราะห์มาเลเซียชี้ไปที่อัตราการฉีดวัคซีนของมาเลเซีย ซึ่งในอาเซียนนี้เป็นรองเพียงสิงคโปร์เท่านั้น และสูงกว่าไทยประมาณสองเท่า

ส่วนเรื่องสุดท้าย หากถามว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยรอไหวไหม ถ้าจะต้องล็อกดาวน์ต่อไปยาวๆ คำตอบของนักเศรษฐศาสตร์เองยอมรับว่า หากล็อกดาวน์ยาวไปจนถึงสิ้นปี แผลของเศรษฐกิจไทยจากโควิดจะลึกและฟื้นตัวยาก แต่อย่างไรก็ตาม หากเปิดแล้วเกิดการระบาดที่กระจายตัวมากขึ้น ผลเสียย่อมมากกว่าผลดี

หากเป็นการเล่นเกมส์ ด่านต่อไปที่เรากำลังจะเผชิญเป็น ด่านที่อันตรายถึงชีวิต แต่เมื่อทั้งหมดนี้คือ ชีวิตจริงที่ต้องเดินหน้าต่อไป การเปิดเศรษฐกิจแบบเล็กๆ ในรอบนี้ต้องทำอย่างระมัดระวัง ยืดหยุ่น และกล้าที่จะเดินไปทั้งข้างหน้า และกล้าที่จะเดินถอยหลัง