“เฉลิมชัย” สั่งด่วน จัดชุดปฏิบัติการ รณรงค์หยุดเผาพื้นที่การเกษตร หวังช่วยลดปัญหาฝุ่น PM2.5

  • พร้อมสั่งออกตรวจ ป้องปราม ระงับ ยับยั้ง ในพื้นที่เสี่ยง
  • ให้ความรู้การใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุทางการเกษตรทดแทนการเผา
  • วอนประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตา หากพบมีการเผาแจ้งสายด่วน 1784

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้คณะทำงานป้องกันและเฝ้าระวังการเผาเศษซากพืชหรือวัชพืช และเศษวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่เกษตร ซึ่งมีปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน เร่งรณรงค์และให้ความรู้เกษตรกรหยุดเผา เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง PM 2.5 ล่าสุดได้รับรายงานว่า กรมส่งเสริมการเกษตรจัดชุดปฏิบัติการประจำพื้นที่เสี่ยง โดยปรับแผนเร่งจัดงานรณรงค์ลดการเผาภายในเดือน ก.พ. 2563 เพื่อให้ทันสถานการณ์เนื่องจากยิ่งเข้าใกล้ฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ ช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. จะมีการเผาเพื่อเตรียมแปลงกันมาก 

โดยแนวทางการทำงานนั้นจะประสานกับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งให้เกษตรอำเภอร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่จัดชุดปฏิบัติการ ออกตรวจ ป้องปราม ระงับ ยับยั้ง และแจ้งเหตุการณ์เผาในพื้นที่การเกษตร โดยมีเครือข่ายเกษตรกรของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตร (ศพก.) ตำบล เป็นหน่วยงานเฝ้าระวัง 

สำหรับสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันคือ การให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุทางการเกษตรทดแทนการเผา เช่น ไถกลบ ผลิตฟางอัดก้อน ทำปุ๋ยหมัก เป็นต้น ตลอดจนปลุกจิตสำนึกในการไม่เผาเศษวัสดุการเกษตรซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและเศรษฐกิจอย่างยิ่ง

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ทางกรมฯจะอำนวยการ กำกับและติดตามผลการดำเนินงานในระดับจังหวัดอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ โดยประเมินจากจุดความร้อน (Hot spot) และปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM 10) และ PM 2.5 โดยเฉพาะในพื้นที่เกษตร สำหรับแนวทางป้องกันและเฝ้าระวังการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรนั้นจะตรวจสอบข้อมูลและพิจารณาจุดความร้อน (Hot spot) จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISDA) หากพบจุดความร้อนในพื้นที่จะประสานเครือข่ายเกษตรกร ผู้นำ ประธาน ศพก. เข้าร่วมตรวจสอบพื้นที่เพื่อดำเนินการตามมาตรการที่เหมาะสมต่อไป

อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือประชาชนหากพบการเผาเศษวัสดุในพื้นที่การเกษตร ให้แจ้งเหตุไปยังสายด่วนฉุกเฉินกรมบรรเทาสาธารณภัย 1784 สำหรับทุกพื้นที่ หรือสายด่วนฉุกเฉินกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 1362 สำหรับพื้นที่ป่าตลอด 24 ชั่วโมง