เจ้าหนี้ “บินไทย”​ ยัน ต้องเป็นรัฐวิสาหกิจ เปิดแผนฟื้นฟูขอพักหนี้แสนล้าน 3 ปี

  • ลุ้นโหวตแผนฟื้นฟู 12 พ.ค.นี้
  • ขอพักหนี้ 3 ปี ยืดหนี้เดิมออกไป 12-18ปี
  • พร้อมใส่เงินใหม่เข้ามา 50,000 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงสานว่า ขณะนี้คณะผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ได้ข้อสรุป ในการเจรจาโดยขอให้รัฐบาลตัดสินใจให้กระทรวงการคลังหรือรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องซื้อหุ้นส่วนหนึ่งกลับคืนมาเพื่อทำให้การบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทที่ 3 คือ ไม่มีสหภาพแรงงานอีกครั้ง เพื่อให้แผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยมีความเป็นไปได้ที่ได้จัดทำไว้สามารถดำเนินงานต่อไปได้ และมีความเป็นไปได้ที่จะฟื้นฟูฐานะการบินไทยกลับมาเป็นสายการบินแห่งชาติได้อีกครั้ง

ทั้งนี้ หาการบินไทยไม่ได้เป็นสายการบินแห่งชาติ และรัฐวิสาหกิจต่อไป แผนการฟื้นฟูกิจการที่ทำมาจะไม่มีทางทำให้การบินไทยกลับสู่สถานภาพเดิมได้ และในวันที่ 12พ.ค. หรือวันพุธนี้ที่จะต้องนำแผนเข้าสู่กระบวนการให้ศาลล้มละลายสั่งฟื้นฟูกิจการ ก็อาจทำให้ศาลเห็นว่าแผนที่นำเสนอไม่มีทางทำได้และที่สุดอาจสั่งให้การบินไทยต้องล้มละลายไปในที่สุด เพราะการปล่อยให้การบินไทยล้มละลายหรือหลุดจากการเป็นรัฐวิสาหกิจไป จะทำให้เกิดผลเสียหายต่อประเทศชาติมากมาย สายการบินจากประเทศคู่แข่งอย่างสิงคโปร์แอร์ไลน์, คาเธ่ย์ แปซิฟิค ของฮ่องกงและ ลุฟฮันซ่า ของเยอรมนี ซึ่งเป็นสายการบินใหญ่ที่รัฐบาลประเทศนั้นๆต่างอุ้มชู จะเข้ามากวาดส่วนแบ่งในตลาดที่เคยเป็นของการบินไทยไปหมด จากที่เคยมีเส้นทางอยู่ทั่วโลก และนำเอานักเดินทางเข้าประเทศมากถึงปีละกว่า 24 ล้านคน

ผู้สื่อข่าวรายงานจากเจ้าหนี้รายหนึ่งว่า การปล่อยให้การบินไทยล้มหายตายจากไปจะไม่มีใครได้รับประโยชน์นอกจากเสียหายกันทุกฝ่าย และเสียหายสถานเดียว โดยเฉพาะเมื่อผู้ถือหุ้นทุกราย ถูกลดทุนจนหมดและเจ้าหนี้ทุกรายได้รับหนี้คืนเพียง 30% ในอีก 10 ปีข้างหน้า แต่หากยังคงสถานะการเป็นรัฐวิสาหกิจต่อไป อย่างน้อยการบินไทยก็จะได้รับประโยชน์จากสิทธิการบิน ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขระบบการจำหน่ายตั๋วโดยสารกันใหม่เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

เปิดเผยพักชำระหนี้ 3 ปี

ขณะเดียวกัน การเป็นรัฐวิสาหกิจยังทำให้การบินไทยสามารถขอสิทธิในการหารายได้จากการให้บริการในระบบภาคพื้นดินต่างๆร่วมกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ได้ด้วย โดยไม่เปิดช่องว่างให้บริษัทเอกชนอื่นเข้าไปยึดพื้นที่ในสนามบินต่างๆทั่วประเทศ

สำหรับแผนการฟื้นฟูกิจการที่เจ้าหนี้รายใหญ่จะให้ความเห็นชอบนั้น มีมูลค่าหนี้อยู่ประมาณ 170,000 ล้านบาท ส่วน 240,000 ล้านบาทถือว่าเป็นหนี้อนาคตที่ยังไม่ต้องลงบัญชี ภายใต้การบริหารจัดการเพื่อทำให้การบินไทยกลับมาดำเนินธุรกิจต่อไปได้นี้
ผู้บริหารแผนให้สัญญาว่า จะขอพักชำระหนี้ออกไป 3 ปี ดอกเบี้ยค้างจ่ายแฮร์คัตให้ทั้งหมด และยืดหนี้เดิมออกไป 12-18ปี คิดดอกเบี้ย 1.00-1.50% พร้อมใส่เงินใหม่เข้ามา 50,000 ล้านบาท เป็นส่วนของสถาบันการเงินเจ้าหนี้จำนวน 10 รายในวงเงิน25,000 ล้านบาท ส่วนอีก 25,000 ล้านบาท ให้รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังจัดหา และเป็นผู้ค้ำประกัน

ไซส์เล็กทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลการฟื้นฟูกิจการอย่างใกล้ชิดจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการปรับโครงสร้างหนี้ และโครงสร้างองค์กร โดยผู้จัดทำแผนชุดปัจจุบัน และผู้บริหารการบินไทยจะต้องดำเนินการลดขนาดองค์กรให้เล็กลงโดยมีเครื่องบินเพียง 60 ลำ รวมการบินไทยกับไทยสมายล์เข้าด้วยกันมีพนักงานประมาณ 13,000 คน จากเดิมที่มีอยู่เกือบ 30,000 คน ลดลงไปแล้ว 9,200 คน จะต้องลดลงอีกภายในปี 2565 อีก 7,000 คน โดยส่วนของพนักงานนี้ผู้บริหารเพิ่งติดประกาศ เมื่อวาน (8 พ.ค.) ให้พนักงานสมัครใจจาก สำหรับเครื่องบินให้ลดแบบลงเหลือเพียง 4 แบบเท่านั้นเพื่อให้เหมาะกับเส้นทางที่จะบิน
นอกจากนี้ ผู้บริหารการบินไทยให้สัญญาว่าจะนำระบบดิจิทัล ทรานส์ฟอร์มเข้ามาใช้อย่างจริงจังในการจัดจำหน่ายตั๋วโดยสาร ซึ่งแต่เดิมการขายตั๋วผ่านเอเย่นต์ สูงถึง 70% ทำให้ไม่สามารถปรับราคาตั๋วโดยสารให้เกิดความยืดหยุ่นได้ “การบินไทยเป็นหนึ่งในฟันเฟืองเศรษฐกิจสำคัญ ปีหนึ่งๆมีการขนส่งผู้คนไปทั่วโลกเกือบ 30 ล้านคน ได้รับสิทธิให้ขนคนไทยไปแสวงบุญในพิธีฮัจญ์ ตามข้อกำหนดของสหราชอาณาจักร ของซาอุดีอาระเบีย ยังสามารถช่วยรัฐในการขนส่งคนไทยกลับบ้านในสถานการณ์ฉุกเฉินหลายๆสถานการณ์ รวมทั้งการแพร่ระบาดของโควิดด้วย…

เพื่อรักษาสิทธิการบิน

หากการบินไทยไปต่อไม่ได้ ยังต้องเสียสิทธิในการเป็นพันธมิตรสายการบิน Star Alliance ซึ่งมีการส่งต่อผู้โดยสารกันเป็นจำนวนมาก จึงมีความเชื่อว่าหากไม่มีการบินไทยอีก จำนวนนักท่องเที่ยว และผู้เดินทางผ่านประเทศไทย จะต้องลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งย่อมจะกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศ การจ้างงานโดยรวม และนักลงทุนจำนวนมากด้วย

นอกจากนี้ยังมีรายงานจากประเทศในกลุ่มพันธมิตรด้วยว่า รัฐบาลได้สั่งให้เทมาเส็กให้การช่วยเหลือสิงคโปร์แอร์ไลน์โดยการใส่เงินให้เกือบ 150,000 ล้านบาท และแปลงหนี้เป็นทุน 55% ทั้งยังพร้อมจะใส่เงินให้อีก 148,000 ล้านบาทหากจำเป็น

ส่วนคาเธ่ย์ รัฐบาลฮ่องกงใส่เงินตรงเข้าไปเพิ่มทุน 78,000 ล้านบาท เป็นเงินกู้ 31,200 ล้านบาท ได้รับเงินเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นเดิมอีก 46,800 ล้านบาทโดยมีAir Chaina เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในขณะที่ลุฟฮันซ่าได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเยอรมนี 333,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากรัฐอยู่ 111,000 ล้านบาท