เงินเฟ้อไทยเดือนก.ย.65 ยังทะยาน 6.41%

.แต่เริ่มชะลอหลังราคาพลังงาน-อาหารลดลง
.คาดแนวโน้มไตรมาส 4 ยังเพิ่มแบบชะลอตัว
.พร้อมยันทั้งปี 65 มั่นใจขยายตัว 5.5-6.5%

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคว่า เดือนก.ย.65 เท่ากับ 107.70 เมื่อเทียบกับ 101.21 ของเดือนก.ย.64 ทำให้เงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 6.41 % ชะลอตัวลงจากเดือนส.ค.65 ที่สูงถึง 7.86% ส่วนเมื่อเทียบกับดัชนีเดือนส.ค.65 ที่ 107.46 ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.22% และดัชนีเฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 65 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 6.17% ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานออกจากการคำนวณ เดือนก.ย.65 อยู่ที่ 103.73 เมื่อเทียบเดือนส.ค.65 เพิ่มขึ้น 0.09% แต่เมื่อเทียบเดือนก.ย.6 สูงขึ้น 3.12% ชะลอลงจากเดือนส.ค.65 ที่สูงขึ้น 3.15% ส่วนเฉลี่ย 9 เดือน เพิ่มขึ้น 2.26%


“เงินเฟ้อทั่วไปเดือนก.ย.65 เทียบเดือนก.ย.64 เพิ่มในอัตราชะลอลง เป็นเพราะราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน เคหสถาน และเครื่องประกอบอาหารชะลอลง ประกอบกับ ฐานดัชนีที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อเดือนก.ย.64 อยู่ระดับสูง อย่างไรก็ตาม เดือนก.ย.65 ราคาสินค้าและบริการโดยรวมยังคงสูงกว่าเดือนก.ย.64 จากการทยอยปรับราคาเพิ่มตามต้นทุนในช่วงก่อนหน้า พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมขัง และความต้องการซื้อสินค้าในประเทศที่ดีขึ้น มีส่วนทำให้เงินเฟ้อยังคงขยายตัว แต่ในอัตราที่ชะลอตัวตามที่คาดการณ์ไว้”


สำหรับปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่ม 6.41% เป็นผลจากราคาสินค้ากลุ่มพลังงาน ขยายตัว 16.10% ตามการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง นอกจากนี้ ค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ค่าโดยสารสาธารณะ การศึกษา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ยังสูงขึ้นกว่าปีก่อน, อาหารสด ที่ขยายตัว 10.97% ตามการสูงขึ้นของราคาสินค้ากลุ่มเนื้อสัตว์ ไข่ไก่ ผักสดและผลไม้ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง, อาหารสำเร็จรูป ที่ยังเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และเครื่องประกอบอาหาร ที่แม้ราคาชะลอตัว แต่ยังคงสูงกว่าปีก่อนตามต้นทุนการผลิต ราคาวัตถุดิบ และค่าขนส่งที่สูงขึ้น


นายพูนพงษ์ กล่าวต่อถึงแนวโน้มเงินเฟ้อไตรมาส 4 ปี 65 ว่า มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากไตรมาส 3 ตามต้นทุนการผลิตและการขนส่งในประเทศ หลังราคาน้ำมันดิบและอาหารโลกลดลง ประกอบกับ ฐานดัชนีราคาที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน และมาตรการดูแลค่าครองชีพของภาครัฐ ที่อาจจะมีเพิ่มในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อชะลอตัวลง แต่ความต้องการซื้อในประเทศที่ดีขึ้น ตามภาคการท่องเที่ยว การส่งออก และรายได้เกษตรกรที่อยู่ในระดับดี รวมถึงฝนตกชุก น้ำท่วมขังพื้นที่เกษตร ส่งผลให้ผลผลิตเข้าสู่ตลาดน้อย และเป็นอุปสรรคต่อการขนส่ง อีกทั้งราคาพลังงานโลกที่ยังผันผวน และเงินบาทอ่อนค่า ส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบเพิ่มขึ้น จะเป็นปัจจัยที่ทำให้การชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบที่จำกัด


“แต่กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 65 ขยายตัว 5.5 – 6.5% โดยมีค่ากลางที่ 6.0% ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ และการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจอื่นๆ ของไทย”