เงินเฟ้อแบบฟุบ : Stagflation มาทักทาย??

หลังจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง เริ่มส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตให้ปรับสูงขึ้น รวมทั้งเริ่มเห็นการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อในเดือน ส.ค. และคาดว่าจะเร่งตัวต่อเนื่องในเดือน ก.ย.และเดือนต่อๆ ไป 

ทำให้เริ่มมีนักวิชาการบางคนออกมาพูดว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะ Stagflation หรือที่เรียกแบบไทยๆว่า ภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่เศรษฐกิจยังคงฟุบ หรือซบเซาต่อเนื่อง ซึ่งภาวะเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อประชาชนและธุรกิจที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมจากต้นทุนราคาน้ำมันที่สูงขึ้น แต่รายได้ยังคงลดลงต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19

Stagflation มาทักทายเศรษฐกิจไทยแล้วจริงหรือ? และจะส่งผลกระทบรุนแรงสกัดกั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ลองมาทำความเข้าใจสถานการณ์วันนี้กันก่อน

Stagflation คือ ภาวะที่เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์บางประเภท เช่น ราคาอาหาร ราคาน้ำมัน ราคาวัตถุดิบต่างๆ  หรือเกิดขึ้นจากฝั่งต้นทุนการผลิตสินค้า เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยไม่ได้เพิ่มขึ้นจากฝั่งกำลังซื้อที่มาจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวร้อนแรง หรือผู้คนมีรายได้ และพลังในการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เพราะเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะตกต่ำหรืออยู่ในวิกฤตเศรษฐกิจ

สถานการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งส่งผลต่อค่าครองชีพของประชาชนให้สูงขึ้น และส่งผลต่อเนื่องให้มีการตัดสินใจชะลอการลงทุนใหม่ๆ รวมทั้งชะลอการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ลดทอนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา 

อย่างไรก็ตาม  หากมองในอีกด้าน นักเศรษฐศาสตร์มองว่า Stagflation จะเป็นภาวะที่เกิดขึ้นไม่นาน และที่ผ่านมาจะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายการเงิน หรือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือกระทบให้เกิดการลดวงเงินมาตรการช่วยเหลือเยียวยาทางเศรษฐกิจ เหมือนกรณีที่เกิดภาวะเงินเฟ้อ หรือ Inflation 

สำหรับราคาพลังงานขาขึ้นในรอบนี้ วงการน้ำมันโลกคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบโลกจะพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 6 เดือนจากนี้ ในระหว่างที่เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายในหลายประเทศ 

ในขณะที่เศรษฐกิจของไทยยังฟื้นตัวตามไม่ทันประเทศอื่นๆ เนื่องจากประเทศไทยควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ไม่ดีเท่ากับหลายประเทศ ขณะที่จำนวนประชาชกรที่ได้รับวัคซีนครบโดส หรือ 2 เข็มยังอยู่ในอัตราต่ำกว่าเปอร์เซนต์ความเชื่อมั่น

แน่นอนว่า ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จะกระทบต่อต้นทุนในภาคการผลิต ราคาค่าขนส่ง การเดินทาง การท่องเที่ยว รวมทั้งยังส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการปรับขึ้นของราคาสินค้าที่ใช้น้ำมันในกระบวนการผลิตสูง

อย่างไรก็ตาม เพื่อบรรเทาผลกระทบเฉพาะหน้า รัฐบาลตัดสินใจใช้เงินกองทุนน้ำมันในการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลรวมทั้งปรับเปลี่ยนสูตรของน้ำมันดีเซล จาก B7 และ B10 เป็น B6 เป็นการชั่วคราว เพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นน้ำมันหลักในกระบวนการผลิต และขนส่งของประเทศ ขณะที่ยังปล่อยให้ราคาน้ำมันเบนซินเป็นไปตามกลไกตลาด

นอกจากนั้น ยังคงการตรึงราคาก๊าซหุงต้มต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้กระทบกับต้นทุนของพ่อค้าแม่ค้า ร้านขายอาหาร และครัวเรือน โดยกระทรวงพาณิชย์ประกาศว่า ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้กระทบกับต้นทุนการผลิตน้อยมาก และไม่อนุญาตให้สินค้าใดๆ ปรับขึ้นราคาในขณะนี้ จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมัน

ขณะเดียวกัน จากมาตรการในการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวทางทางบก ทางน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางอากาศลดลงมาก รวมทั้งการลดกำลังการผลิตในหลายภาคอุตสาหกรรมลงตามยอดขาย และคำสั่งซื้อ ส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันในประเทศอยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ค่อนข้างมาก 

ดังนั้น ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในขณะนี้อาจจะกระทบกับเศรษฐกิจโดยรวมไม่มากเท่าในหลายๆ ครั้งก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามปัจจัยที่จะส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบ ต่อราคาน้ำมันและภาพรวมเศรษฐกิจต่อไปอย่างใกล้ชิด ทั้งทิศทางราคาน้ำมันโลก เช่นความพยายามในการคุมปริมาณการผลิตน้ำมัน เพื่อคงราคาขายในระดับสูงของกลุ่มโอเปค การเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวของประเทศตะวันตก รวมทั้งการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดรอบใหม่ ที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก 

สำหรับประเทศไทยนั้น ปัจจัยใหม่ล่าสุดซึ่ง นายกรัฐมนตรี ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา คือ การเริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจากประเทศความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่ำ และฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้วโดยไม่ต้องกักตัว ในวันที่ 1 พ.ย.นี้ และการเปิดให้สถานพักผ่อนหย่อนใจ และสถานบันเทิงกลับมาเปิดและขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ในวันที่ 1 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ รวมทั้งการเปิดการเดินทางท่องเที่ยวแบบเสรีได้ทั่วทุกจังหวัด

และเหตุว่า การเปิดประเทศตามแนวทางดังกล่าว เป็นการเปิดประเทศที่เร็วกว่าที่หลายๆคนคาดไว้ ซึ่งน่าจะช่วยเร่งให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะการเดินทางและท่องเที่ยวในประเทศที่เริ่มเห็นอัตราการจองที่พักเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

ในด้านที่ดี การเปิดประเทศดังกล่าวจะส่งผลต่อรายได้ และการจ้างงานของคนไทยให้ปรับดีขึ้น มีการหมุนเวียนของเม็ดเงินลงไปในกลุ่มเปราะบางของประเทศมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การขยับของรายได้ และการท่องเที่ยวจะส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันในการเดินทางท่องเที่ยว และการใช้น้ำมันในการผลิตสินค้าต่างๆ และอัตราเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน 

ทำให้ผู้ดำเนินนโยบายทางการเงิน การคลังจำเป็นต้องสร้างสมดุลการใช้นโยบายจากข้อดี-ข้อเสียของทั้งสองฝั่งให้ดีขณะเดียวกัน คงยังไม่สามารถหนุดการใช้มาตรการเยียวยาและใส่เงินเข้าไปในระบบให้จุดที่ยังต้องการความช่วยเหลือ เพราะยังเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวแบบ 2 ทิศ ในขณะนี้ขยับเข้าใกล้กันมากขึ้น 

ที่สำคัญกว่านั้น คือ จะต้องวางแผนล่วงหน้า หาตัวแปร ตัดชี้วัดที่เหมาะสม ในการรักษาการขยายตัวของเศรษฐกิจให้เติบโตต่อเนื่อง โดยไม่เร่งหรือไม่สร้างปัญหาเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาว