เงินเฟ้อเม.ย.64เพิ่มสูงสุดรอบ 8 ปี 4 เดือน

.ขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 14 เดือน

.หลังราคาน้ำมัน-อาหารพุ่ง-หมดโปรลดค่าน้ำ-ไฟ

.แต่คาดรัฐลดค่าน้ำ-ไฟต่อฉุดเงินเฟ้อเดือนหน้าลด

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคหรือเงินเฟ้อเดือนเม.ย.64 อยู่ที่ 100.48 เพิ่มขึ้น 3.41% จากเดือนเม.ย.63 ที่เป็นการขยายตัวเป็นบวกคตรั้งแรกในรอบ 14 เดือน และสูงสุดในรอบ 8 ปี 4 เดือน ส่วนเมื่อเทียบเดือนมี.ค.64 เพิ่มขึ้น 1.38% และดัชนีเฉลี่ย 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) เพิ่มขึ้น 0.43% ขณะที่ดัชนีเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักราคาอาหารสด และน้ำมันออกแล้ว อยู่ที่ 100.56 เพิ่มขึ้น 0.30% เมื่อเทียบเดือนเม.ย.63 และเพิ่มขึ้น 0.14% เมื่อเทียบเดือนมี.ค.64 และดัชนีเฉลี่ย 4 เดือน เพิ่มขึ้น 0.16% ซึ่งเงินเฟ้อของไทยที่สูงขึ้นเป็นไปตามทิศทางเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก

สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อเดือนเม.ย.กลับมาขยายตัวมาก มาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับฐานราคาน้ำมันที่ต่ำมากในปีก่อน โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มพลังงานที่ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด 36.38 % ประกอบกับ มาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล ทั้งค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ได้สิ้นสุดลง รวมทั้งราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดหลายชนิดสูงขึ้นตามผลผลิตที่ลดลง ทั้งเนื้อสุกร ผักและผลไม้ เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน

นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณด้านสถานการณ์เศรษฐกิจ ที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ ที่สนับสนุนการใช้จ่ายของประชาชน และอุปสงค์ในตลาดโลกที่เริ่มฟื้นตัวตามลำดับ สำหรับการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ เดือนเม.ย.64 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า มีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น 134 รายการ เช่น ค่าไฟฟ้า, ค่าน้ำประปา, ผักสดต่างๆ ขณะที่สินค้าและบริการที่ราคาลดลง มี 99 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า, ไข่ไก่, กระเทียม, น้ำมันดีเซล เป็นต้น และไม่เปลี่ยนแปลงมี 197 รายการ

“แต่ต้องจับตาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในขณะนี้ ที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งภาคการผลิต และภาคการบริโภค และเป็นประเด็นข้อกังวลที่อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่ต่อเนื่อง ซึ่งต้องติดตามและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ว่าจะสามารถควบคุมให้กลับมาสู่ภาวะใกล้เคียงปกติได้เมื่อใด” นายวิชานัน ระบุ

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อ เดือนพ.ค.64 นั้น หากรัฐบาลไม่มีมาตรการช่วยลดค่าครองชีพเพิ่มเติม คาดว่ามีแนวโน้มขยายตัวสูงต่อเนื่องจากเดือนเม.ย. แต่หากไม่มีมาตรการออกมาเพิ่มเติม อาจปรับตัวลดลงไปถึง 2% ต้องดูว่ามาตรการจะแรงแค่ไหน เพราะการลดค่าน้ำ ค่าไฟ จะทำให้เงินเฟ้อในแต่ละเดือนลงไปได้ถึง 2% แต่คาดว่าเงินเฟ้อในปี 64 จะเคลื่อนไหว 0.7-1.7% โดยมีค่ากลาง 1.2% ซึ่งน่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง แต่หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ สนค.จะมีการทบทวนอีกครั้ง”