เครื่องสำอางไทยฮอตฮิตในประเทศคู่เอฟทีเอ

.ผู้บริโภคอาเซียน ญี่ปุ่น ฮ่องกง จีนต้องหามาใช้

.เหตุคุณภาพดีและยังได้แต้มต่อจากลดภาษีนำเข้า

.ดันไทยขึ้นแท่นที่ 2 ผู้ส่งออกเครื่องสำอางอาเซียน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สินค้าเครื่องสำอางของไทย เช่น ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและตกแต่งหน้า สบู่ แชมพู ผลิตภัณฑ์เพื่ออนามัยในช่องปากและฟัน และวัตถุดิบที่ใช้ทำเครื่องสำอาง มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันไทย เป็นผู้ส่งออกเครื่องสำอางอันดับที่ 2 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และเป็นอันดับที่ 10 ของโลก โดยความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เป็นเครื่องมือสำคัญที่ส่งเสริมการส่งออกสินค้าดังกล่าว เพราะช่วยขจัดอุปสรรคภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย  

โดยปัจจุบัน 14 ประเทศคู่เอฟทีเอ ได้แก่ อาเซียน (9 ประเทศ) จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และฮ่องกง ได้ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องสำอางของไทยทุกรายการ เหลือเพียง 4 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ อินเดีย ชิลี และเปรู ยังคงการเก็บภาษีนำเข้าบางรายการ เช่น เกาหลีใต้ เก็บภาษีนำเข้าเอสเซนเชียลออยล์จากโสมแดง 603.4% และสบู่และแชมพู 5% ส่วนอินเดีย เก็บภาษีนำเข้าวัตถุดิบทำเครื่องสำอางประเภทสารที่มีกลิ่นหอม 5% ขณะที่ชิลี เก็บภาษีนำเข้าวัตถุดิบทำเครื่องสำอางประเภทสารลดแรงตึงผิว 1.3% แต่จะลดภาษีเป็น 0% ในปี 66 และเปรู เก็บภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและตกแต่งหน้า ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับเส้นผม น้ำหอมและหัวน้ำหอม 6%  

“ประเทศคู่เอฟทีเอถือเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย โดยการส่งออกเครื่องสำอางไป 18 ประเทศคู่เอฟทีเอในแต่ละปีมีสัดส่วนสูงกว่า 80% ของการส่งออกเครื่องสำอางไปโลก โดยในช่วงปี 60-62 ไทยส่งออกไป 18 ประเทศคู่เอฟทีเอเฉลี่ยปีละ 2,431 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 12% ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาเซียน (ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และลาว) ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฮ่องกง และจีน” 

สำหรับปี 63 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว ทำให้การส่งออกสินค้าเครื่องสำอางหดตัวลงเล็กน้อย โดยไทยส่งออกไป 18 ประเทศคู่ค้าเอฟทีเอ มูลค่า 2,445 ล้านเหรียญฯ หดตัว 10% จากปี 62 ส่วนในช่วง 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) ปี 64 ส่งออกแล้ว 388 ล้านเหรียญฯ หดตัว 2% จากช่วงเดียวกันของปี 63 แต่เมื่อพิจารณารายสินค้า พบว่า สินค้าหลายรายการยังคงเติบโต โดยเฉพาะกลุ่มดูแลรักษาสุขภาพอนามัย เช่น สบู่ เพิ่ม3%, ผลิตภัณฑ์เพื่ออนามัยในช่องปาก เพิ่ม 12%, ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม เพิ่ม 3% และสินค้ากลุ่มวัตถุดิบที่ใช้ทำเครื่องสำอาง เช่น สิ่งปรุงแต่งที่ใช้หล่อลื่น เพิ่ม 6%, สารให้กลิ่นหอม เพิ่ม 21% และเอสเซนเชียลออยล์ เพิ่ม 11%