“เกษตร” จับมือผู้ส่งออกผลไม้ จัดติวเข้มเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนภาคเหนือเพื่อการส่งออก

  • “นราพัฒน์” เดินสาย ติวเข้มผู้ปลูกทุเรียนภาคเหนือเพื่อการส่งออก
  • มุ่งยกระดับคุณภาพและมาตรฐาน สร้างความได้เปรียบเหนือประเทศคู่แข่ง
  • มั่นใจ การส่งออกทุเรียนภาคเหนือไปโลดแน่

นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิด “โครงการอบรมพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนภาคเหนือเพื่อการส่งออก ครั้งที่ 1” ณ หอประชุมตลาดผลไม้เทศบาลตำบลหัวดง (OTOP) อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และบริษัทพันธมิตรด้านการส่งออกผลไม้ ประกอบด้วย บริษัท เดอะลิส อินเตอร์ คอร์ปอเรชั่น บริษัท เอ็นทีเอฟ อินเตอร์กรุ๊ป(ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัท กสิรุ่งเรือง จำกัด ได้ร่วมกันสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดอบรม ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนการส่งออกผลไม้ไปยังตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการยกระดับความรู้เกษตรกรและการเพิ่มประสิทธิภาพด้านต่าง ๆ นำไปสู่การยกระดับด้านคุณภาพการผลิตแก่เกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนืออย่างครบวงจร ซึ่งได้รับความสนใจจากเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 100 คน

นายนราพัฒน์ กล่าวว่า โครงการอบรมพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนภาคเหนือเพื่อการส่งออก ครั้งที่ 1 นี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาเกษตรกร โดยเฉพาะผู้ปลูกทุเรียนในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งจะได้เรียนรู้ถึงการพัฒนาการผลิตทุเรียนให้ได้ตามมาตรฐาน GAP รวมถึงการป้องกันจำกัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุตรดิตถ์ อีกทั้งยังมีการให้บริการด้านการเกษตร การจัดนิทรรศการความรู้จากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นต้น

“ภาพรวมในการจัดอบรมครั้งนี้อบรม ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าทุเรียนหมอนทอง ยังเป็นผลไม้ที่มีอนาคต มีการส่งออกที่ดีขึ้นตามลำดับ นับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา สามารถส่งออกเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 89,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 76 เมื่อเทียบกับปี 2563 อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กลุ่มผู้ประกอบการต้องการให้พัฒนามากขึ้น คือ การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่เกษตรกร เพื่อรักษาคุณภาพผลผลิต ที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดต่างประเทศ สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนามและมาเลเซีย โดยสิ่งที่ต้องเน้นย้ำกับเกษตรกร คือ ต้องมีการผลิตที่มีคุณภาพ ปลอดภัยตามมาตรฐานที่กำหนด เช่น การรับรองมาตรฐาน GAP เนื่องจากการส่งออกทุเรียนไปยังตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งมีมาตรการควบคุมการนำเข้าที่เข้มงวดในเรื่องโรคและแมลงนั้น ต้องให้ความสำคัญกับการจัดการดูแลเรื่องเหล่านี้เป็นพิเศษ”