เกษตรโชว์ผลสำเร็จขับเคลื่อนคุณภาพและมาตรฐานทุเรียนภาคตะวันออก

แก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพและการสวมสิทธิ์ใช้ใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ของเกษตรกรเพื่อการส่งออกทุเรียนของประเทศไทย

  • ส่งออกจีนทะลุ 477,000 ตัน มูลค่า 62,000 ล้านบาท
  • ยกจันทบุรีโมเดลเป็นต้นแบบสำหรับพื้นที่ภาคใต้
  • เตรียมนำคณะลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานอย่างเข้มข้น

นายสุรเดช สมิเปรม รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพและการสวมสิทธิ์ใช้ใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ของเกษตรกรเพื่อการส่งออกทุเรียนของประเทศไทย ว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญในการควบคุมและป้องกันทุเรียนด้อยคุณภาพเพื่อให้ผลผลิตทุเรียนที่จะทำการส่งออกต้องได้คุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐานการส่งออกที่กำหนด

โดยในปี 2566 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานในสังกัด เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ตลอดจนผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด และภาคเอกชน ร่วมกันผลักดันการดำเนินงานอย่างเข้มข้น ขอยืนยันว่าทุเรียนไทยเป็นทุเรียนที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐานเพื่อการส่งออก จึงขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยกันขับเคลื่อนจนเกิดความสำเร็จ ขณะนี้ได้รับรายงานว่าทุเรียนภาคตะวันออกมียอดการส่งออกสูงถึง 470,000 ตัน มูลค่า 60,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามในเดือน มิ.ย. – ต.ค. นี้ เป็นช่วงที่ผลผลิตผลไม้ภาคใต้จะเริ่มออกสู่ตลาด โดยภาคใต้กำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนและวันเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูกาลทุเรียนในฤดูกาลผลิต ปี พ.ศ. 2566 ในพื้นที่จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี พันธุ์หมอนทอง เป็นวันที่ 10 มิถุนายน 2566 จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อม โดยใช้โมเดลของภาคตะวันออกที่ประสบความสำเร็จไปแล้วนั้น มาเป็นต้นแบบดำเนินการในพื้นที่ภาคใต้ต่อไป และเน้นย้ำให้มีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ เข้าใจ ในขั้นตอนและมาตรการต่าง ๆ ซึ่งตนและคณะจะเตรียมลงพื้นที่ติดตามการควบคุมคุณภาพทุเรียนสำหรับส่งออกและบริโภคในประเทศในพื้นที่ภาคใต้เร็ว ๆ นี้

ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรรายงานสถานการณ์การส่งออกทุเรียนสดจากประเทศไทยไปสาธารณรัฐประชาชนจีน สะสมตั้งแต่ 1 ม.ค.66 – 25 พ.ค.66 มีการส่งออก 28,755 ชิปเมนต์ ปริมาณ 477,741.80 ตัน มูลค่า 62,387.97 ล้านบาท ในส่วนของการส่งออกผลไม้สด รวมส่งออก 52,128 ชิปเมนต์ ปริมาณ 911,204.37 ตัน มูลค่า 81,671.07 ล้านบาท