เกษตรฯ เล็งหารือกรมชลพัฒนาแก่งน้ำต้อนเป็นแก้มลิง แก้ปัญหาแล้งซ้ำซาก จ.ขอนแก่น

  • คาดเก็บน้ำได้เพิ่มถึง 35.02 ล้าน ลบ.ม.
  • เพิ่มพื้นที่ชลประทานใน 7 ตำบล ได้ 35,000 ไร่

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังรับฟังบรรยายสรุปและรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรและประชาชนแก่งน้ำต้อน ในโอกาสติดตามการดำเนินงานการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น  ณ บึงแก่งน้ำต้อน บ้านสะอาด ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.ขอนแก่น ว่า

โครงการแก้มลิงแก่งน้ำต้อน มีแผนพัฒนาแก้มลิงแก่งน้ำต้อนพร้อมอาคารประกอบ(ระยะที่ 1) ปี 2564-2567 แผนงานก่อสร้าง 4 ปี งบประมาณ 750 ล้านบาท ซึ่งจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ปี 2524-2560 รวมพื้นที่ชลประทาน 5,130 ไร่ ปริมาตรเก็บกักเพิ่มขึ้น 2.431 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ขุดลอก 566.50 ไร่ งบประมาณ 90.05 ล้านบาท

“หลังจากได้รับฟังรายงานและติดตามความคืบหน้าแล้วจะนำไปหารือกับกรมชลประทาน เพื่อเร่งรัดการดำเนินการโดยเร็วขึ้นจาก 4 ปี เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ และเพื่อประโยชน์ของเกษตรกรและประชาชน ให้มีแหล่งเก็บกักน้ำเพื่อการเกษตร และอุปโภคบริโภค ต่อไป”

สำหรับโครงการพัฒนาแก่งน้ำต้อนเป็นโครงการแก้มลิงขนาดใหญ่ และเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาแก้มลิงสองฝั่งลำน้ำชี จากทั้งหมด 34 โครงการ ที่กรมชลประทานได้ดำเนินการตามแนวพระราชดำริ ตั้งแต่ปี 2539 มีพื้นที่หนอง 6,196 ไร่ สภาพปัจจุบันตื้นเขิน ในช่วงฤดูน้ำหลากเกิดน้ำท่วมขัง พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณรอบหนองไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งเนื่องจากไม่มีอาคารบังคับน้ำ จึงทำให้ราษฎร 33,877 คน พื้นที่เกษตรโดยรอบกว่า 35,000 ไร่ ขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค และการเกษตร

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมชลประทานได้ดำเนินการพัฒนาแก่งน้ำต้อนมาตั้งแต่ปี 2543 และในปี 2561-2562 ได้รับงบประมาณในการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น การสำรวจขอบเขตโครงการ รวมถึงการออกแบบโครงการแก้มลิงแก่งน้ำต้อนระยะที่ 1 ความก้าวหน้าปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำเอกสารรายละเอียดเพื่อเตรียมการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในปีงบประมาณ 2564 โดยมีแนวทางในการขุดลอกพื้นที่บึงแก่งน้ำต้อนพร้อมปรับปรุงคันดินโดยรอบ 6,196 ไร่ หากโครงการแล้วเสร็จ จะทำให้เกิดประโยชน์โดยเพิ่มปริมาณเก็บกักน้ำจากเดิม 7.431 ล้าน ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) เป็น 35.02 ล้าน ลบ.ม.

รวมทั้งเพิ่มพื้นที่ชลประทานใน 7 ตำบล 3 อำเภอ ประมาณ 35,000 ไร่ เป็นแหล่งรองรับน้ำและเก็บกักน้ำที่สำคัญของลำน้ำชี เพื่อช่วยลดปัญหาน้ำท่วมและปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคของราษฎร ทั้งยังเก็บกักน้ำไว้สำหรับสนับสนุนการเพาะปลูกในพื้นที่การเกษตร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่ให้ดีขึ้น หากได้รับการพัฒนาจะบรรจุน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ ตลอดจนบูรณาการร่วมกับท้องถิ่นในการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในอนาคต