เกษตรกรไทยใช้ “ไลน์” พลิกวิกฤตเป็นโอกาส

  • ขยายช่องทางธุรกิจสู่การเกษตรดิจิทัล
  • ก้าวเข้ายุค New Normal อย่างมั่นใจ

นางสาวสกุลรัตน์ ตันยงศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจเอสเอ็มอี  LINE ประเทศไทย กล่าวว่า ในภาวะวิกฤตจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบครั้งใหญ่ต่อทุกอุตสาหกรรมทั่วโลกตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เช่นเดียวกับภาคการเกษตรของไทย อันเป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีความสำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งเกษตรกรชาวไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตการครั้งนี้โดยตรง เนื่องจากไม่สามารถส่งออกผลิตผลทางการเกษตรไปยังต่างประเทศได้ตามปกติ

 และนับจากนี้ไปจะเป็นยุค New Normal แพลตฟอร์มและเครื่องมือการตลาดออนไลน์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจทุกขนาด ทุกประเภท ไม่ได้เป็นเพียงแค่ ‘เครื่องมือเสริม’ หรือ ‘ตัวช่วย’ อีกต่อไป เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคได้เปลี่ยนไปแล้ว สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงคือความสะดวกในการใช้งานและประสิทธิภาพของแพลตฟอร์มและเครื่องมือ ดังนั้น LINE ประเทศไทย จึงมุ่งมั่นพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อให้ LINE Official Account และ MyShop เป็นเทคโนโลยีเพื่อผู้ประกอบการอย่างแท้จริง เพราะใช้งานง่ายทั้งฝั่งคนขายและฝั่งคนซื้อ รองรับการบริหารจัดการและสร้างความสัมพันธ์ลูกค้าในระยะยาว ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม มีหนึ่งแพลตฟอร์มตัวอย่างที่คอยช่วยเหลือเกษตรกรทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการทำงานร่วมกับชุมชนในชื่อ ‘Find Food’ ภายใต้คอนเซปต์แหล่งอาหารและวัตถุดิบโดยคนไทยเพื่อคนไทย ด้วยวัตถุดิบต้นทาง ราคาต้นทุน ที่ได้ช่วยให้เกษตรไทยสามารถปรับตัวและพลิกวิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาส ด้วยการขยายช่องทางธุรกิจสู่การเกษตรดิจิทัลแบบเต็มตัว ผ่านการใช้ LINE Official Account ร่วมกับเครื่องมือใหม่อย่าง MyShop มาช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยและชุมชนในท้องที่ต่างๆ ให้เกษตรกรสามารถขายและเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคตัวจริงได้โดยตรง โดยมีทีมงานเบื้องหลังเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่คุ้นชินกับการเข้าถึงเทคโนโลยีเป็นอย่างดี

ตัวอย่างกรณีที่ประสบความสำเร็จ อาทิ การส่งออกลิ้นจี้สดจากดอยผาหมี จังหวัดเชียงราย ที่มียอดสูงกว่า 2 หมื่นกิโลกรัม จากยอดการสั่งซื้อ 2,654 รายการภายใน 7 วัน สร้างงานให้กับคนในชุมชนกว่า 100 คน แบ่งเป็น 15 ครอบครัวที่ทำการเกษตรและ 13 ครอบครัวที่ดำเนินการขนส่งสินค้า โดยล่าสุด Find Food สามารถช่วยชุมชนระบายผลผลิตทางการเกษตรไปแล้วกว่า 30 ตัน และสร้างรายได้ให้กับชุมชนต่างๆ ไปแล้วเกือบล้านบาทในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา