อ่านเลย… “กินเจ” อย่างไรไม่ให้อ้วน และเกิดโรค

  • เปิดทริคอาหารเจดีต่อสุขภาพ
  • รับประทานโปรตีนทดแทนจากถั่ว
  • ทุกมื้อควรเพิ่มผักหรือผลไม้สด

“เทศกาลถือศีลกินเจ” เทศกาลกินเจ 2565 ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันจันทร์ที่ 26 กันยายน 2565 โดยก่อนหน้า 1-2 วัน หลายคนที่จะกินเจ ต้องเริ่มปรับสมดุลร่างกาย ด้วยการเปลี่ยนจากการกินอาหารปกติ มากิน “อาหารเจ” เพื่อเป็นการล้างท้อง ก่อนที่จะเข้าสู่เทศกาลกินเจ เต็มรูปแบบ ซึ่งหากจะพูดถึงอาหารเจแล้ว ส่วนใหญ่ก็มักจะทำจากแป้ง และ ของทอด หากรับประทานเข้าไปมาก ๆ แล้ว ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพและทำให้อ้วนได้ กรมควบคุมโรค จึงชวนคนไทยหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ลดหวาน ลดมัน ลดเค็ม ในช่วงเทศกาลถือศีล กินเจ เน้นทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ รับประทานโปรตีนทดแทนจากถั่ว และทุกมื้อควรเพิ่มผักหรือผลไม้สดด้วย

(24 ก.ย.2565) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ปีนี้เทศกาลถือศีลกินเจ ตรงกับวันที่ 25 กันยายน – 4 ตุลาคม 2565 ซึ่งถือเป็นเทศกาลที่นิยมของชาวไทย ที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ เพื่อเป็นการไม่เบียดเบียนสิ่งมีชีวิต เป็นช่วงเวลาปรับสภาพร่างกายให้สมดุล ล้างพิษในร่างกาย รวมถึงช่วยเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การงดอาหารรสจัด ลดหวาน ลดมัน ลดเค็ม ลดความเสี่ยงการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพ จึงขอแนะนำหลักปฏิบัติ ช่วงถือศีล กินเจในวิถีชีวิตใหม่ เพื่อได้บุญสุขใจ และมีสุขภาพดี ดังนี้

  1. รับประทานอาหารเจควรทานให้ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารที่มีโปรตีนเป็นส่วนประกอบ เช่น ธัญพืช เต้าหู้ เห็ด ถั่ว เพื่อป้องกันการขาดโปรตีน
  2. หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ลดหวาน ลดมัน ลดเค็ม หรืออาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูง ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
  3. ทุกมื้อควรเพิ่มผักหรือผลไม้สด โดยหากปรุงอาหาร หรือรับประทานผักและผลไม้สด ต้องแช่และล้างด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง เพื่อชะล้างสารเคมีที่มักปนเปื้อนมากับผักและผลไม้สด
  4. ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” คือ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ หรืออุ่นให้ความร้อนทั่วถึง และอุปกรณ์บรรจุทุกชิ้นต้องสะอาด

นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หรือโรคอ้วน แนะนำให้ควบคุมการรับประทานอาหารเจเป็นพิเศษ เนื่องจากอาหารเจจะเน้นผัก ผลไม้ คาร์โบไฮเดรต หรือโปรตีนจากถั่วต่าง ๆ ซึ่งย่อยง่ายกว่าเนื้อสัตว์มาก ทำให้รู้สึกหิวบ่อยกว่าปกติ อาจทำให้รับประทานอาหารระหว่างมื้อบ่อยครั้ง

อาหารเจหลายเมนูมีวัตถุดิบที่ทำจากแป้ง และมักใช้วิธีการทอด ทำให้มีไขมันสูง อาจส่งผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาล หรือคอเลสเตอรอลในเลือด และระดับความดันโลหิตได้ จึงต้องระวังอาหารประเภททอด หรือใช้น้ำมัน รวมทั้งมีเกลือเป็นส่วนประกอบ ส่วนผลไม้ควรเลือกกินในปริมาณที่เหมาะสม มีรสชาติไม่หวานจัด และควรออกกำลังกายเพื่อช่วยการเผาผลาญแป้งและน้ำตาล ที่รับประทานมากขึ้นในช่วงเทศกาลกินเจ

ทริคการ กินเจ ให้สุขภาพดี

  • ทานอาหารประเภทถั่ว และธัญพืชต่าง ๆ เนื่องจากการงดกินเนื้อสัตว์ ทำให้ร่างกายขาดสารอาหารประเภทโปรตีน แต่ก็สามารถเสริมได้ด้วยโปรตีนจากถั่ว และธัญพืชต่าง ๆ หรืออาจจะเป็นนมถั่วเหลืองก็ได้
  • ลดการกินผักผลไม้ที่มีกากใยอาหารสูง ช่วยลดปัญหาท้องอืดในผู้สูงอายุ หลีกเลี่ยงการกินผักสด หากจะกินควรนำมาต้ม หรือนึ่งให้นิ่มก่อน เพื่อช่วยในการย่อย
  • หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกแป้ง และไขมันสูง ซึ่งทำให้ร่างกายจะได้รับสารอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต และไขมันที่สูงเกินความจำเป็น เป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่าง ๆ
  • พยายามเลี่ยงอาหารรสเค็ม หวาน มัน โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ควรระมัดระวังอาหารเจที่มีส่วนประกอบของแป้ง และอาหารที่มีรสชาติหวานมันมากเกินไป หรือผู้ที่เป็นโรคไต ควรหลีกเลี่ยงอาหารเจที่มีรสเค็ม
  • เน้นอาหารต้ม นึ่ง ย่าง หลีกเลี่ยงอาหารประเภททอด หรือผัด ร่วมกับการกินผักและผลไม้ไปด้วย