อุปทูตและคณะนักธุรกิจสหรัฐฯ เข้าหารือ รมว.อุตสาหกรรม แสดงจุดยืนต้องการลงทุนในประเทศไทยโดยเฉพาะอุตสาหกรรมดิจิทัลและพลังงาน

  • แนะนำไทยดูเรื่องจัดซื้อจัดจ้าง
  • ให้เน้นคุณภาพสินค้าที่ได้มาตรฐาน
  • บริษัทช้ันนำลุงแซมยืนยันลงทุนในไทยต่อไป

 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยหลังการหารือกับ นายปีเตอร์ เฮย์มอนด์ อุปทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย เพื่อหารือประเด็นการค้าและการลงทุน จากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ท่ี คาดการณ์ว่าจะเกิดการย้ายฐานการลงทุนของสหรัฐฯ จำนวนหนึ่ง ซึ่งสหรัฐฯ ได้แจ้งว่ามีความประสงค์จะลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัลและพลังงาน ในประเทศไทย ที่สามารถดึงดูดการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ให้แข่งขันกับนักลงทุนจากประเทศอื่น อาทิ จีน สหภาพยุโรป ได้ โดยแนะนำให้รัฐบาลไทยพิจารณาเรื่องนโยบายจัดซื้อจัดจ้าง (Procurement policies) ที่ให้ความสำคัญเรื่องของคุณภาพของสินค้า รวมทั้งค่าซ่อมอะไหล่และบริการ (Total cost of ownership) และค่าใช้จ่ายตลอดระยะเวลาการใช้งาน มากกว่าประเด็นด้านราคาการซื้อในครั้งแรก (Initial price) แต่เพียงอย่างเดียวให้เป็นแนวทาง


“อุปทูตสหรัฐฯ ยังสนใจร่วมมือกับไทยในธุรกิจสาขาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ที่สหรัฐฯ เชี่ยวชาญ ได้แก่ การจัดการของเสีย การศึกษาวิจัยด้านสุขภาพ และสินค้าที่ต่อยอดจากสินค้าเกษตร เช่น น้ำตาล ปาล์ม โดยธุรกิจ BCG เป็นแนวคิดใหม่ที่จะขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจ  ซึ่งเป็นการใช้วัตถุดิบทางการเกษตรเพื่อต่อยอดและเพิ่มมูลค่าของสินค้าขั้นปลายได้มากขึ้น”


ทั้งนี้ ต่อมาคณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน ( USABC) ซึ่งประกอบด้วยบริษัทชั้นนำ อาทิ เชฟรอน, ดาวเคมีคอล, เอ็กซอนโมบิล, คอช, 3 เอ็ม, ออราเคิล, ทีอี คอนเน็คทิวิตี้, พีแอนด์จี, เอไอจี ฯลฯ ได้ ยืนยันว่า พร้อม ที่จะลงทุนในประเทศไทยต่อไป เนื่องจากยังเห็นว่าอาเซียนและประเทศไทยเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพและพลวัตรการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ซึ่งการหารือในครั้งนี้เป็นการเสนอแนะมุมมองของเอกชนที่ต้องการให้รัฐบาลนำไปปรับใช้