อุตสาหกรรมยานยนต์ประเทศไทยส่อวิกฤต

  • พิษเศรษฐกิจโลกกดยอดส่งออกเดือนม.ค.
  • ต่ำสุดรอบ7ปี 9เดือน แต่ยังตั้งเป้าผลิตปีนี้2 ล้านคัน
  • แห่ซื้อรถเชฟโรเลต สะท้อนคนมีกำลังซื้อแต่ไม่ยอมใช้จ่าย

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่ายอดการผลิตรถยนต์เดือนม.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 156,266 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 12%เป็นยอดผลิตเพื่อส่งออก 85,143 คัน ลดลง 15% และยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 71,123 คัน ลดลง 9% สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ภายในประเทศอยู่ที่ 71,688 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8% ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นผลมา จากการเข้มงวดของสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ ขณะที่ ยอดการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปอยู่ที่ 65,295 คัน ลดลง 19% ต่ำสุดในรอบ 7 ปี 9 เดือน เป็นการส่งออกลดลงเกือบทุกตลาด ทั่วโลก เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัวลง ส่วนรถจักรยานยนต์ พบว่ามียอดขาย 145,279 คัน ลดลง 2.4%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้น 27.9% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค. 2562

ประเด็นเรื่องที่ บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส หรือ​ จีเอ็ม​ ประกาศยุติการจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อเชฟโรเลตในประเทศไทย และขายโรงงานผลิตรถยนต์ให้กับ เกรท วอลล์ มอเตอร์ กลุ่มยานยนต์ได้ ประเมินว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศไทยมากนัก เนื่องจากตลาดได้รับรู้มาก่อนหน้านี้ เห็นได้จากบริษัทมีการประกาศแผนธุรกิจมาต่อเนื่องทั้งในไทย และในภูมิภาค โดยในไทยได้ประกาศยกเลิกผลิตรถยนต์นั่่งส่วนบุคคลเมื่อปี 2561 และใช้วิธีนำเข้าแทนล่าสุดใม ปีที่ผ่านมาก็ได้ประพกาศ ลดพนักงานลงจำนวน 300 คน จนถึงปีนี้ประกาศยกเลิกการผลิตรถกระบะ ปิดโรงงาน ตลอดจนยกเลิกการจำหน่ายในไทยทั้งหมด

“ผมมองว่า สาเหตุที่จีเอ็มปิดโรงงานในประเทศไทยเพราะต้องการปรับแผนลงทุนไปยังตลาดอื่นๆ อาทิ จีนซึ่ง ถือเป็นเรื่องของธุรกิจ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่า คือ ตลาดรถยนต์ในประเทศที่ชะลอตัวลง สาเหตุมาจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน และภาพรวมตลาดรถยนต์ต่อจากนี้ยังไม่เห็นสัญญาณบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นๆ จะย้ายฐานการผลิตจากไทยไปประเทศอื่น แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของแต่ละบริษัทด้วย”

ล่าสุด สถานการณ์ของการตลาดของรถยนต์ยี่ห้อเชฟโรเลตช่วงนี้ที่เกิดภาวะลดราคาขายรถยนต์ยี่ห้อเชฟโรเลต ประเมินว่าจะเป็นเพียงสถานการณ์ระยะสั้น เพราะรถยนต์ที่นำมาลดราคาขายเป็นรุ่นที่มีปริมาณเหลือเพียง 1,000 คัน จากสต๊อกที่มีทั้งหมด 4,000 คันและส.อ.ท.ขอติดตามสถานการณ์และปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อภาวะตลาดรถยนต์ต่อไปอย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการพิจารณาประเมินภาพรวมตลาดรถยนต์ในระยะต่อๆ ไป แต่ยังคงเป้าหมายยอดผลิตรถยนต์ปีนี้อยู่ที่ 2 ล้านคัน เป็นยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 1 ล้านคัน และผลิตเพื่อส่งออก 1 ล้านคัน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานส.อ.ท. กล่าวว่า ขณะนี้เต็นท์รถมือ 2 ได้รับผลกระทบที่ไม่สามารถขายรถยี่ห้อเชฟโรเลตได้ และเกิดปรากฏการณ์ลดราคา(ดั้มพ์) ในระยะเวลาสั้นๆ เพื่อดันยอดขาย ซึ่งลูกค้าอาจต้องใช้เงินสดซื้อรถยนต์ เพราะสถาบันการเงินไม่ปล่อยกู้ มุมหนึ่งจึงสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ชัดเจนว่าคนมีกำลังซื้อ แต่ไม่กล้าใช้จ่าย เพราะไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน