“อุตตม” แจงหนี้ครัวเรือนไทย ส่วนใหญ่เป็นหนี้คุณภาพ

  • ยันมาตรการชิม ช้อป ใช้ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่เอื้อนายทุน
  • จัดชุดมาตรการดูแลทุกกลุ่ม
  • ช่วยบรรเทาค่าครองชีพ ปชช.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 22.50 น. วันที่ 24 ก.พ. นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ชี้แจงว่า หากดูรายละเอียดหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยไตรมาส 3 ปี 2562 จะพบว่าหนี้ครัวเรือนมีหลายประเภท ซึ่งร้อยละ 47 เป็นหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน คือ เป็นหนี้ที่คุณภาพ ร้อยละ 18 กู้เพื่อประกอบอาชีพสร้างรายได้ ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และร้อยละ 35 เป็นหนี้ด้านอื่นๆ นี่คือข้อมูลภายในหนี้ครัวเรือนที่เรามีอยู่ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกันดูแลเรื่องนี้ และมีมาตการที่เข้มข้นขึ้น ยืนยันว่า หนี้ครัวเรือนเป็นสิ่งปกติที่ต้องมีเพียงแต่โครงสร้างหนี้ครัวเรือนต้องมีความเหมาะสม ส่งผลบวกต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ในภาวะปัจจุบันเศรษฐกิจโลกไม่ปกติ เรามีความจำเป็นต้องดูแลทุกภาคส่วนในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ จึงมีการออกชุดมาตรการเศรษฐกิจ เพื่อดูแลการหมุนเวียนเศรษฐกิจในประเทศ ผ่านการกระตุ้นเศรษฐกิจ การบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และพยายามดูแลให้ครบห่วงโซ่การผลิตที่ต่อเนื่องกัน เราพยายามพัฒนามาตรการที่ครบวงจรมีเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นมาตรการถาวรในเวลานี้ เพราะต้องสร้างความมั่นใจให้มีสภาพคล่องเพียงพอ มีการอุปโภค บริโภค ที่จะสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการ และมาตรการเหล่านี้คงไม่มีมาตรการใด มาตรการหนึ่ง ที่จะตอบโจทย์เราได้ทั้งหมด รัฐบาลจึงจัดเป็นชุดมาตรการมาดูแลคนทุกกลุ่ม

รมว.คลัง กล่าวด้วยว่า ส่วนมาตรการชิมช้อปใช้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยการดูแลเรื่องการอุปโภค บริโภคในวงกว้าง ส่วนที่พูดกันว่ามาตรการดังกล่าวใช้วงเงิน 2 หมื่นล้านบาทนั้น เป็นเพียงวงเงินที่ตั้งไว้ แต่ใช้จริงแค่ 1.83 หมื่นล้าน สร้างเม็ดเงินกว่า 2.9 หมื่นล้านบาท และมีการหมุนเวียนของเงินครบ 77 จังหวัดของประเทศไทย มีการใช้จ่ายในเมืองรองมากกว่าเมืองหลัก นอกจากนี้ เรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการอุปโภค บริโภค ในประเทศ พบว่าภาษีดังกล่าวขยายตัวในไตรมาส 4 ซึ่งมีผลในการช่วยดูแลเศรษฐกิจที่ถูกกระทบจากปัจจัยภายนอกอย่างต่อเนื่อง เป็นผลบวกคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ

ส่วนการใช้ระบบคิวอาร์โค้ดในการเข้าถึงมาตรการชิมช้อปใช้ ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ร้านค้าขนาดใหญ่ ซึ่งสาเหตุที่ใช้ระบบนี้ เพราะเครือข่ายการโอนเงินอิเลกทรอนิกช่วยลดต้นทุนในการโอนเงิน และยังได้ช่วยจูงมือประชาชนหลายสิบล้านคนก้าวข้ามกำแพงดิจิตอล วันนี้โลกเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจสังคมดิจิตอล ซึ่งประเทศไทยมีเป้าหมายใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้อย่างเต็มที่ ส่วนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป้าหมายเพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพสำหรับการดำรงชีพพื้นฐาน โดยไม่มีการเอื้อกลุ่มทุนแต่อย่างใด การจัดสรรโครงการนี้มีเจตนาให้ผู้ถือบัตรซื้อของกินของใช้ในชีวิตประจำวันเท่าที่จำเป็นเท่านั้น