“อุตตม”สั่งหน่วยงานในสังกัดเร่งช่วยผู้ประสบภัยนำ้ท่วมจากพายุโพดุล ธกส.ให้ผ่อนปรนภาระหนี้สิน

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมจากพายุโซนร้อนโพดุล ส่งผลให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดแต่ละพื้นที่เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการช่วยเหลือเกษตรกรนั้น ได้มอบหมายให้นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) กำหนดแนวทาง พร้อมกำชับให้ ธ.ก.ส. ในพื้นที่ดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ดังนี้ กรณีฉุกเฉินเร่งด่วน ได้มอบหมายให้พนักงานในพื้นที่ออกเยี่ยมเยียนให้กำลังใจลูกค้า โดยนำเงินจากกองทุนบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยธรรมชาติและภัยพิบัติของ ธ.ก.ส. ไปจัดหาถุงยังชีพเพื่อนำไปมอบให้เกษตรกรลูกค้าและประชาชนที่เดือดร้อน

โดยเบื้องต้นได้ส่งถุงยังชีพช่วยเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร และนครพนม ไปแล้วกว่า 20,000 ถุง รวมทั้งเข้าไปสนับสนุนศูนย์อพยพหรือจุดรวมพลต่าง ๆ เช่น จัดหาอาหาร น้ำดื่ม บริการสุขาเคลื่อนที่ เต็นท์สนาม รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ เช่น ค่าเช่าเรือ ค่าเช่ารถบรรทุก ค่าแรงงาน เป็นต้น และหลังจากสถานการณ์คลี่คลายลงจะเร่งสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาพิจารณาให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูหลังประสบภัยต่อไป

นายธนกร กล่าวอีกว่า สำหรับการให้ความช่วยเหลือด้านภาระหนี้สินที่มีอยู่กับ ธ.ก.ส. กรณีที่เกษตรกรได้รับความเสียหายด้านการผลิตและส่งผลกระทบต่อรายได้ ธ.ก.ส.จะพิจารณาขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไปเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนตามความหนักเบาของผู้ประสบภัยทุกราย และพิจารณาให้สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ไม่เกินรายละ 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ระยะเวลา 6 เดือนแรก และสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต

สำหรับเกษตรกรลูกค้าผู้ประสบภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ ตามความจำเป็นแต่ไม่เกินรายละ 500,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย MRR -2 หรือเท่ากับร้อยละ 4.875 ต่อปี กำหนดชำระคืนไม่เกิน 15 ปี ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้เป็นค่าลงทุนในการสร้างหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหาย หรือลงทุนซ่อมแซมโรงเรือนการเกษตร เครื่องมือ เครื่องจักรกลการเกษตรหรือฟื้นฟูการประกอบอาชีพการเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ เกษตรกรผู้ประสบความเดือดร้อนสามารถติดต่อ ธ.ก.ส.ในพื้นที่เพื่อขอรับการช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ได้ทันทีหรือที่ Call Center 02-5550555