“อุตตม”ทุ่มสุดตัวจัดหนัก มาตรการชุดที่ 3 กู้เศรษฐกิจ-ลดผลกระทบโควิด-19

  • ยันไม่กู้ไอเอ็มเอฟแน่นอน เหตุฐานะการคลังยังแข็งแกร่ง
  • เม็ดเงินมากกว่ามาตรการ 2 ชุดรวมกันแน่นอน
  • ยังไม่ฟันธงออกพรก.กู้เงินหรือพ.ร.บ.โอนงบประมาณ

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า  ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการออกมาตรการเยียวยาและดูแลระบบเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ชุดที่ 3 โดยมาตรการชุดนี้จะดูแลผู้ที่ได้รับกระทบให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนของธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)และประชาชน   โดยมาตรการชุดที่ 3 จะมีลักษณะเหมือนกับมาตรการชุดที่ 1 และชุดที่ 2 ที่จะมีมาตรการจากหลายหน่วยงานรวมกัน และประเมินว่าจะใช้เงินงบประมาณมากกว่ามาตรการชุดที่ 1 และชุดที่ 2 รวมกัน

            สำหรับรายละเอียดของมาตรการ อยู่ระหว่างการศึกษาของกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งจะมีธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)  สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เข้ามาช่วยพิจารณามาตรการ  ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในวันที่ 31 มี.ค.63 จะยังไม่มีการเสนอเรื่องดังกล่าว เพราะว่าการพิจารณายังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากเป็นมาตรการชุดใหญ่ที่สุดที่จะออกมาเพื่อดูแลระบบเศรษฐกิจไม่ให้ตกท้องช้าง และยังจะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยไม่ให้ทรุดตัวไปมากกว่าปัจจุบัน 

“ยืนยันว่า​แหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในการออกมาตรการชุดที่ 3 มีอย่างแน่นอน และยืนยันว่าจะไม่มีการกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ อย่างแน่นอน เพราะรัฐบาลมีความมั่นคงและมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งไม่ใช่ถังแตกหรือเงินหมดถัง แต่เนื่องจากวิกฤตไวรัสโควิด-19ในครั้งนี้เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นทั่วโลกโดยไม่คาดคิดมาก่อน แต่เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้กระทรวงการคลังก็จำเป็นที่จะต้องใช้เงินจำนวนมาก แต่ยังไม่ทราบว่าจะเป็นเม็ดเงินเท่าไหร่”

            นายอุตตม กล่าวว่า สถานะเงินงบประมาณในขณะนี้ยอมรับว่างบกลาง 96,000 ล้านบาท ที่อยู่ภายใต้การดูแลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ล่าสุดมีรายจ่ายกำหนดไว้เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นมาตรการชุดที่ 3 จึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังที่จะพิจารณาว่าจะออกเป็นพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) กู้เงินหรือไม่ ขณะที่ทางสำนักงบประมาณก็กำลังศึกษาหาทางช่วยเหลือรัฐบาลในการที่จะออกพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) โอนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 บางส่วน เพื่อนำมาเป็นงบกลาง     

            ส่วนกรณีการรักษาวินัยการเงินการคลัง ที่กำหนดว่ากระทรวงการคลังจะก่อหนี้ไม่เกิน 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)  ล่าสุด กระทรวงการคลังยังมีแนวความคิดที่จะรักษาเพดานก่อหนี้ไม่เกิน 60% ของจีดีพี โดยล่าสุด ณ วันที่ 30 เม.ย. 2562 หนี้สาธารณะต่อจีดีพี อยู่ที่ 6.98 ล้านล้านบาทหรือคิดเป็น 42.07 % ซึ่งยังมีช่องว่างให้รัฐบาลสามารถก่อหนี้ได้อีก

ส่วนกรณี 7 สายการบิน ประกอบไปด้วยไทยแอร์เอเชีย ,นกแอร์ ,ไทยเวียตเจ็ท, บางกอกแอร์เวย์ส ,ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์, ไทยสมายล์, ไทยไลอ้อนแอร์ ที่ได้รับความเดือดร้อนจากไวรัสโควิด-19 นั้น ได้ออกมาตรการช่วยเหลือไปแล้ว โดยให้กรมสรรพสามิตลดภาษีนำมันเจ็ทให้ 

ส่วนข้อเรียกร้องที่ให้ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟต์โลน) จำนวน 16,000 ล้านบาทออกมาช่วยเพิ่มเติมนั้น  กระทรวงการคลังแนะนำให้สายการบินที่เดือดร้อน ไปกู้เงินที่ธนาคารออมสินในโครงการสินเชื่อซอฟต์โลน 150,000 ล้านบาท ซึ่งปล่อยกู้ธนาคารพาณิชย์ในอัตราดอกเบี้ย 0.01% เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์นำไปปล่อยกู้ต่อธุรกิจที่เดือดร้อนในอัตรา 2%

“ส่วนสถานการณ์โควิด-19 จะทำให้จีดีพีติดลบมากกว่า 5% ตามที่ธปท.คาดการณ์ไว้หรือไม่ ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะไม่รู้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะลากยาวแค่ไหน ”