อีอีซี เตรียมผุด ศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ 2หมื่นล้าน

  • นักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนศูนย์บริการฯ
  • เคาะงบรื้อสาธารณูปโภครถไฟฟ้าสามสนามบิน 490 ลบ.
  • เร่งตั้งโรงงานกำจัดขยะครบวงจรในอีอีซี

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยหลังการประชุมอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มีนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เป็นประธานว่า ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าและมีมติเห็นชอบแผนการดำเนินงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทั้งหมด  3 เรื่อง ได้แก่ ความก้าวหน้าด้านสาธารณสุขในพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ  โดยจะมีการทำศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือ เมดิคัลฮับ ด้านการแพทย์ ด้านจีโนมิกส์  หรือการศึกษาเกี่ยวกับการหาดีเอ็นเอและรหัสพันธุกรรม เพื่อยกระดับด้านการแพทย์จีโนมิกส์ ทำให้ประชาชนในพื้นที่อีอีซีเข้าถึงการรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพ

ทั้งนี้ในการตั้งเมดิคัลฮับ ด้านการแพทย์ ฯ จะใช้พื้นที่ในอาคาร 10 ปีเภสัชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์  มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี ประมาณ  3.8 ไร่ เป็นอาคารรวม 12 ชั้น พื้นที่อาคารรวมประมาณ 24,000 ตารางเมตร โดยจะมีการลงทุนตั้งโครงการศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ เพื่อพัฒนาการให้บริการด้านแพทย์จีโนมิกส์ ในระยะแรก 1,700 ตารางเมตร ซึ่งรัฐบาลจะเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนด้านอุปกรณ์และเครื่องมือประมาณ 1,250 ล้านบาทต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปี

“การลงทุนด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ จะมีการคัดเลือกผู้ประกอบการเพื่อให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ โดยปัจจุบันมีนักลงทุนรายประเทศ สนใจจะมาลงทุนในโครงการศูนย์บริการฯ  อาทิ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น โดยคาดว่าจะมีเงินลงทุนจากเอกชนราว 20,000 ล้านบาท ซึ่งทางบอร์ดบริหารอีอีซี จะรีบนำเสนอรายชื่อผู้ที่สนใจลงทุนต่อการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในเดือนธ.ค.นี้”

นอกจากนี้ในส่วนโครงการศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์  รัฐบาลจะของบประมาณ ผ่านกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม จำนวน 750 ล้านบาท ทุกปี เป็นระยะเวลา 5 ปี เพื่อซื้อบริการถอดรหัสพันธุกรรม จำนวน 5,000 ราย รายละไม่เกิน 15,000 บาท เพื่อให้ศูนย์บริการนี้ มีฐานข้อมูลพันธุกรรมของคนไทยทุกคนในประเทศ เพื่อที่นำมาต่อยอดในการผลิตยารักษาโรคในอนาคต

ส่วนเรื่องโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน(ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท ที่มีการลงนามร่วมลงทุนโครงการฯ เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา ปัจจุบัน ได้พิจารณาแผนเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่และรื้อย้ายสาธารณูปโภค ตามที่คณะกรรมการ กบอ.เห็นชอบในหลักการ โดยได้ตั้งแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแล คณะกรรมการบริหารสัญญา ขึ้นมาดูแลแล้ว

สำหรับแผนส่งมอบพื้นที่ประกอบด้วย 1.แอร์พอร์ต เรลลิงค์ จำนวน 28 กิโลเมตร(กม.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ส่งมอบพื้นที่ได้ทันที 2.ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ- พญาไท จำนวน 22 กม. จะเร่งรัดส่งภายใน 1 ปี 3 เดือน และ3.ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา จำนวน 170 กม. จะเร่งรัดส่งภายใน 2 ปี 3 เดือน

“ที่ประชุมได้ประมาณการค่าใช้จ่ายเปิดหน้างานทั้งแนวเส้นทาง เพื่อรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคแล้วอยู่ที่ 490 ล้านบาท หลังจากนั้นจะมีค่าใช้จ่ายเพื่อปิดหน้างานหลังก่อสร้างแล้วเสร็จอีกครั้ง ซึ่งอยู่ระหว่างการคำนวณค่าใช้จ่าย”

ส่วนเรื่องการจัดการขยะในพื้นที่อีอีซี อย่างยั่งยืน จะมีการจัดตั้ง จัดตั้งโรงงานขยะ และโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะ เนื่องจากพื้นที่อีอีซีจะมีขยะเพิ่มขึ้นเป็น 6,800 ตันต่อวัน  ในปี 2580 หรืออีก 20 ปี หลังจากปัจจุบันในเขตอีอีซี มีขยะถึงวันละ 4,200 ตันต่อปี  ทั้งนี้ได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วางแผนกำจัดกัดขยะ  3 ประเภท ได้แก่ ขยะบก ขยะบนเกาะ และขยะในทะเล ภายใน 3 เดือน รวมทั้งจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการตั้งโรงงานขยะด้วย

นอกจากนี้ยังให้กลุ่มบริษัท ปตท. บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด มหาชน  (GPSC) ซึ่งมีโรงงานต้นแบบที่ลงทุนกำจัดขยะอยู่แล้ว เข้าร่วมศึกษาเพื่อพัฒนาการลงทุนโครงการบริหารจัดการขยะครบวงจร  และให้กระทรวงพลังงานพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะในพื้นที่อีอีซีด้วย