อิสราเอลชี้น้ำตาลเทียมส่อก่อโรคระบบย่อยอาหาร

.หลังทดสอบสารให้ความหวาน 6 ชนิด

.พบแทรกแซงการทำงานของแบคทีเรีย-จุลินทรีย์

.แนะอุตสาหกรรมอาหาร-เครื่องดื่มทบทวนการใช้

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า มหาวิทยาลัยเบนกูเรียน ของอิสราเอล เผยว่า สารให้ความหวานที่มักใช้แทนน้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่มหลายชนิด อาจก่อให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบย่อยอาหารในระยะยาว

ผลการศึกษาดังกล่าว เผยแพร่ในวารสารอินเตอร์เนชั่นแนล เจอร์นัล ออฟ โมเลคูลาร์ ไซแอนส์ (International Journal of Molecular Science) ระบุว่า คณะนักวิจัยของมหาวิยาลัย ได้ทดสอบสารให้ความหวาน 6 ชนิด ซึ่งได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (เอฟดีเอ) และพบว่า สารเหล่านี้แทรกแซงการทำงานของแบคทีเรียในร่างกาย

แม้ว่าสารทั้ง 6 ไม่ได้ฆ่าแบคทีเรีย แต่มี 3 ตัว ได้แก่ แอสปาร์แตม ซูคราโลส และแซกคาริน ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการทำงานของแบคทีเรีย ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหา หรือโรคเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร โดยคณะนักวิจัยอธิบายว่า สารให้ความหวาน ทำลายกิจวัตรของแบคทีเรีย ซึ่งอาจนำไปสู่การทำลายจุลินทรีย์ในลำไส้

คณะนักวิจัยได้ใช้แบคทีเรียเรืองแสงเพื่อทดสอบสารให้ความหวาน เนื่องจากความสามารถเรืองแสงของแบคทีเรียเหล่านี้จะลดลง หากการทำงานของแบคทีเรียถูกรบกวน

“งานวิจัยของเราผลักดันให้อุตสาหกรรมอาหารทบทวนการใช้สารให้ความหวาน” คณะนักวิจัยสรุป