อินเดียไม่พอใจข้อเสนอเปิดตลาด 15 สมาชิก “อาร์เซ็ป”

  • เมินกลับสู่โต๊ะเจรจาอีกครั้งจนกว่าข้อเสนอน่าพอใจ
  • พาณิชย์ยันขัดเกลาความตกลงเสร็จ18บทจาก20บท
  • ย้ำลงนามร่วมกันทันสิ้นปีนี้ตามเป้าหมายผู้นำได้ชัวร์

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าผู้แทนไทยในคณะกรรมการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการฯ สมัยพิเศษ ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 10-11 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 15 ประเทศ คือ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใค้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ยกเว้นอินเดีย ว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อพิจารณาขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายของความตกลง ประเด็นคงค้าง และการดึงอินเดียกลับเข้าสู่การเจรจา หลังจากถอนตัวออกไปตั้งแต่ปลายปี 62

สำหรับความพยายามของสมาชิกที่จะดึงอินเดียกลับเข้าสู่การเจรจา และร่วมลงนามความตกลงนั้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 เม.ย.63 สมาชิกได้ยื่นข้อเสนอในการเปิดตลาดตามที่อินเดียเรียกร้อง เพื่อให้อินเดียพอใจมากที่สุด และกลับมาเจรจาต่ออีกครั้งนั้น สมาชิก ได้รับแจ้งจากอินเดียว่า ไม่สามารถยอมรับข้อเสนอของสมาชิก 15 ประเทศได้ เพราะข้อเสนอดังกล่าว ยังไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องและข้อกังวลของอินเดีย โดยเฉพาะปัญหาการขาดดุลการค้ากับสมาชิกหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้อินเดียยังไม่พร้อมเข้าร่วมความตกลงในปีนี้ แต่สมาชิก จะร่วมกันหาแนวทางเปิดโอกาสให้อินเดียกลับเข้ามาร่วมความตกลงในอนาคต

ส่วนการขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายนั้น การประชุมครั้งนี้ สามารถขัดเกลาถ้อยคำเสร็จแล้ว 18 บท จาก 20 บท คาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถลงนามความตกลงได้ในปลายปีนี้แน่นอน ขณะที่ประเด็นคงค้าง สามารถเจรจาได้เกือบทั้งหมดแล้ว โดยจะรายงานความคืบหน้าให้รัฐมนตรีอาร์เซ็ปรับทราบ ในการประชุมสมัยพิเศษ ครั้งที่ 10 ที่จะจัดผ่านระบบการประชุมทางไกล ในวันที่ 23 มิ.ย.นี้ ซึ่งรัฐมนตรีจะร่วมกันพิจารณาประเด็นที่ยังคงค้างอยู่ทั้งหมด รวมถึงประเด็นของอินเดีย เพื่อให้สามารถลงนามความตกลงในปลายปีนี้ ตามที่ผู้นำอาร์เซ็ปตั้งเป้าหมายไว้

ทั้งนี้ ความตกลงอาร์เซ็ป ประกอบด้วยสมาชิก 15 ประเทศ ยกเว้นอินเดีย ถือเป็นความตกลงการค้าเสรี ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีประชากรรวมกันกว่า 2,200 ล้านคน หรือประมาณ 30% ของประชากรโลก มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) กว่า 25.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 29.3% ของจีดีพีโลก และมีมูลค่าการค้ากว่า 10.4 ล้านล้านเหรียญฯ คิดเป็น 27.4% ของมูลค่าการค้าโลก