อาเซียนถกรับมือความมั่นคงด้านอาหาร

.ย้ำ 4 สินค้าเกษตรหลักผลผลิต-สต๊อกเพิ่ม

.ทั้งข้าวเปลือก ข้าวโพด น้ำตาลทราย ถั่วเหลือง

.มั่นใจไม่ขาดแคลนแม้มีสงครามรัสเซีย-ยูเครน

นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนประเทศไทย และเลขานุการถาวร คณะกรรมการสำรองอาหารเพื่อความมั่นคงแห่งภูมิภาคอาเซียน ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 42 เมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีกัมพูชาเป็นเจ้าภาพและมีผู้แทนจาก 8 ประเทศเข้าร่วมได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม

โดยสมาชิกได้แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์อาหารสำคัญของอาเซียน 4 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด น้ำตาล และถั่วเหลือง รวมทั้งคาดการณ์ผลผลิต การบริโภค การค้า และปริมาณสำรองอาหารของภูมิภาคและของโลก ซึ่งพบว่า ปีนี้ปริมาณผลผลิต และปริมาณการสำรองของทั้ง 4 ชนิดของอาเซียนมีแนวโน้มขยายตัว แสดงให้เห็นถึง ความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียนที่ยังดีอยู่ และยังมีเพียงพอต่อความต้องการของภูมิภาค

 สำหรับข้าวเปลือก ปีนี้ อาเซียนมีผลผลิตรวม 196.59 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.55% จากปี 64 ที่มี 193.60 ล้านตัน และมีสต๊อกรวม 40.60 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 29.22% จากปี 64 ที่มี 31.42  ล้านตัน ส่วนน้ำตาลทราย ผลผลิตรวม 14.20 ล้านตัน เพิ่ม 2.24% จากปี 64 ที่มี 13.89 ล้านตัน สต๊อกรวม 9.27 ล้านตัน เพิ่ม 11.42% จากปี 64 ที่มี 8.32 ล้านตัน, ข้าวโพด ผลผลิตรวม 46.08 ล้านตัน เพิ่ม 1.46% จากปี 64 ที่มี 45.42 ล้านตัน สต๊อกรวม 6.80 ล้านตัน เพิ่ม 4.46% จากปี 64 ที่มี 6.51 ล้านตัน และถั่วเหลือง ผลผลิตรวมล่าสุดปี 64 อยู่ที่ 0.93 ล้านตัน เพิ่ม 29.17% จากปี 63 ที่มี 0.72 ล้านตัน สต๊อกรวม 0.20 ล้านตัน ลดลง 35.49% จากปี 63 ที่มี 0.31 ล้านตัน แต่คาดว่า ผลผลิตปีนี้จะเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน ยังได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าว เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ที่อาจส่งผลต่อปริมาณอาหารในอาเซียน โดยเฉพาะโควิด – 19 และความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่เป็นความท้าทายต่อความมั่นคงทางอาหารครั้งใหญ่ของโลก

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบกรอบนโยบายบูรณาการความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน และแผนกลยุทธ์ความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน ปี 64 – 68 เพื่อใช้เป็นแนวทางเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว และเพื่อปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรในภูมิภาคให้ดีขึ้น