“อาคม” ไม่หวั่น กนง.เสียงแตก “4 ต่อ 3” ให้คงดอกเบี้ยนโยบาย เผยจากนี้ต้องประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ว่าด้วยความร่วมมือด้านวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยี ระหว่างสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ว่า จากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 4 ต่อ 3 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดย 3 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปีนั้น เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ กนง.ดูแลประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว 

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวสอบถามว่า จากเสียงที่แตก 4 ต่อ 3 เสียงนี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณว่าการประชุม กนง.ครั้งนัดถัดไป น่าจะมีทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ นายอาคม ตอบว่า ยังคิดแบบนั้นไม่ได้ เพราะยังต้องประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง ว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นขึ้นจริงหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ภาคท่องเที่ยวเริ่มดีขึ้นตามลำดับส่งออกยังขยายตัวได้ดี แต่การนำเข้าก็ได้รับผลกระทบจากค่าบาทอ่อน และราคาน้ำมันที่ปรับขึ้น

ทั้งนี้ มองว่า กนง. ยังคงมีความกังวลการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเชื่อว่าได้มีการประเมินสถานการณ์ปัจจัยภายนอก และสถานการณ์ต่างประเทศด้วย เพราะหากอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่างกันเกินไปจะมีผลต่อการไหลออกของเงินทุนได้ ขณะเดียวกันก็ยังต้องดูการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยด้วย 

อีกทั้งผู้สื่อข่าวยังสอบถามต่อว่า การไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะสามารถคุมเงินเฟ้อได้หรือไม่นายอาคม กล่าวว่านอกจากรัฐบาลจะเข้าไปดูแลราคาน้ำมันแล้ว ก็จะเข้าไปดูแลราคาสินค้าให้เข้มงวดขึ้น ขณะที่ภาคเอกชนเอง ก็ต้องจัดการบริหารต้นทุน และอาจต้องยอมกำไรน้อยลงในช่วงนี้ เพื่อประคองเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อได้

นอกจากนี้ รัฐบาลได้พยายามตรึงราคาน้ำมันไว้ให้นานที่สุด ซึ่งต้องดูสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันขณะนี้นั้น โดยทางกระทรวงพลังงานจะต้องเป็นผู้พิจารณาว่า จะขอความช่วยเหลืออะไรจากภาครัฐ ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่มีเสนอเรื่องร้องขอมา 

นอกจากนี้ มีการสอบถามถึงประเด็นลดภาษีน้ำมันต่อหรือไม่นั้น หลังสิ้นสุดมาตรการ วันที่ 20 ก.ค. 65 นายอาคมกล่าวว่า ก็ต้องมาประเมินสถานการณ์ราคาน้ำมันกันอีกครั้ง รวมถึงดูผลการจัดเก็บรายได้ของกระทรวงคลังด้วยว่าสามารถทำได้ตามเป้าที่วางไว้หรือไม่

“ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 65 ยังขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 3.5% แม้เวิลด์แบงก์ได้ปรับลดจีดีพีโลกลงจาก4.1% เหลือ 2.9% ก็ตาม ซึ่งมองว่าเป็นการประเมินน้ำหนักจากเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจ ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจโลก ขณะที่เศรษฐกิจไทยไม่ได้มีผลต่อเศรษฐกิจโลกขนาดนั้น” นายอาคม กล่าว

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็ต้องย้อนกลับมามองตัวเอง สิ่งที่ต้องทำคือสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว และเน้นภาคการส่งออก ซึ่งเศรษฐกิจโลกก็มีผลต่อการค้าของไทยอยู่บ้าง โดยคาดว่าส่งออกปี 65 นี้ จะโต 5-8% แต่จากที่ได้พูดคุยกับเอกชนก็ขอให้มองเป้าหมายเติบโตไว้ที่ 10%