“อาคม” เร่งให้ความรู้คนไทยตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการบริหารจัดการการเงิน

  • เข้าถึงข้อมูลทางการเงิน
  • มีความรู้และทักษะทางการเงินเพียงพอที่จะนำไปประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม
  • เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตได้ต่อไป

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าในการประชุมคณะกรรมการการพัฒนาทักษะทางการเงิน ครั้งที่ 1 /2565 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2565 ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานของรัฐทั้งภาคการเงินและภาคการศึกษา หน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวม 17 หน่วยงาน โดยการประชุมคณะกรรมการการพัฒนาทักษะทางการเงิน ครั้งที่ 1/2565 เป็นการติดตามและพิจารณาการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ. 2565 – 2570 (แผนปฏิบัติการฯ) ที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

โดยที่ประชุมมีมติรับทราบผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 จำนวน 19 แผนงาน โดยสามารถดำเนินได้แล้วเสร็จ 2 แผนงาน ดำเนินการได้ตามแผน 16 แผนงานและแผนงานที่ต้องผลักดันต่อ 1 แผนงาน ทั้งนี้ หน่วยงานต่าง ๆ ได้ร่วมมือกันดำเนินงานเพื่อพัฒนาทักษะการเงินผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ การให้ความรู้และประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อดิจิทัล โซเชียลมีเดีย การผลักดันการพัฒนาทักษะทางการเงินในระบบการศึกษา การพัฒนากฎระเบียบ เป็นต้น อย่างไรก็ดีปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ ในปี 2565 คือ 1) การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งทำให้หน่วยงานมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูธุรกิจก่อน อีกทั้ง การดำเนินกิจกรรมที่ต้องพบปะผู้คนมีการชะลอตัว เนื่องจากต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และ 2) มีต้นทุนในการดำเนินโครงการที่ต้องใช้ระยะเวลาต่อเนื่อง เพื่อปรับพฤติกรรมทางการเงินของประชาชน

นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณาการดำเนินการ การติดตาม และการประเมินผลการดำเนินการพัฒนาทักษะทางการเงิน ดังนี้ 2.1 แผนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ ประจำปี 2566 (ม.ค. – ธ.ค. 2566) ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องจากปี 2565 โดยมีโครงการที่หน่วยงานเสนอเพิ่มเติมจำนวน 8 โครงการ และเพื่อให้การดำเนินงานด้านการพัฒนาทักษะทางการเงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมอบหมาย ให้หน่วยงานกำหนดตัวชี้วัดเพื่อใช้ประกอบการรายงานผลในแต่ละปี โดยจัดทำรายละเอียดโครงการ
ที่ครอบคลุมตัวชี้วัด กลุ่มเป้าหมาย และสาระความรู้ และมอบหมายให้หน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงิน ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ประสานการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแล พิจารณาจัดทำโครงการสนับสนุนให้ภาคการเงินต้องจัดให้มีกิจกรรม/ การดำเนินการพัฒนาทักษะทางการเงินตามแผนปฏิบัติการฯ
2.2 ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางการติดตามและประเมินผลการดำเนินการพัฒนาทักษะ ทางการเงิน เช่น การกำหนดการวัดผลในมิติต่าง ๆ เช่น เชิงปริมาณ เชิงคุณภาพ เชิงพื้นที่ เป็นต้นการกำหนดค่าเป้าหมายของโครงการ รูปแบบการรายงานผลต่อคณะกรรมการฯ เพื่อใช้ในการรวบรวมข้อมูลและจัดทำรายงานผลการดำเนินการและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบเป็นรายปีต่อไป ทั้งนี้ การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ. 2565 – 2570 จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ ให้คนไทยตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการบริหารจัดการการเงิน และเข้าถึงข้อมูลทางการเงิน รวมทั้งมีความรู้และทักษะทางการเงินเพียงพอที่จะนำไปประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตได้ต่อไป