“อาคม” ยกระดับประกันสุขภาพให้ครอบคลุมมากขึ้น หวังลดความเหลื่อมล้ำผู้มีรายได้น้อย

  • สั่งคปภ.ทำแผนประกันมาให้พิจารณา
  • ชี้คนไทยยังทำประกันสุขภาพน้อย

นายอาคม​ เติมพิทยาไพสิฐ​ รมว.คลัง เปิดเผยภายในงานมอบรางวัลประกันภัยดีเด่นครบวงจรประจำปี 63 ว่า กระทรวงการคลังจะเดินหน้าผลักดันประกันสุขภาพซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติอยู่แล้วให้ครอบคลุมประชาชนมากขึ้น โดยตั้งเป้าให้เกิดการทำประกันภัยในกลุ่มของประชาชนทั่วไปและผู้มีรายได้น้อยมากขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

ดังนั้นจึงได้ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เร่งจัดทำแผนประกันสุขภาพ ประกันหลังวัยเกษียณอายุ และประกันเกี่ยวกับการขนส่งคมนาคม เพื่อเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณารูปแบบการดำเนินการต่อไป

“การยกระดับการประกันสุขภาพในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ควรเป็นมาตรการเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการ เพราะสัดส่วนการทำประกันสุขภาพของคนไทยยังอยู่ในระดับต่ำ สวัสดิการของรัฐในด้านสุขภาพยังมีไม่เพียงพอที่จะรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต และงบประมาณก็มีไม่เพียงพอที่จะรองรับค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลทุกคน ดังนั้นจึงจะใช้ระบบประกันเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐด้วย ส่วนใช้มีการใช้มาตรการทางคลังมาสนับสนุนหรือไม่ขอพิจารณาก่อน”

นอกจากนี้ ยังสั่งให้ คปภ.ไปพิจารณาการทำประกันพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะพืชหลักทางเศรษฐกิจ ให้ครบทั้ง 5 ชนิด คือ มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน จากปัจจุบันที่ทำประกันข้าวนาปี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไปแล้ว เพื่อให้สามารถช่วยเหลือกลุ่มเกษตร ให้มีรายได้ที่มั่นคงมากขึ้นได้

ส่วนกรณีรัฐบาลออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)​ฉุกเฉินเพื่อคุมสถานการณ์การชุมนุมนั้น นายอาคม มองว่า เป็นความจำเป็นของรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงที่จะต้องเข้าไปดูแลสถานการณ์​ และยัง เป็นการประกาศเฉพาะพื้นที่​เท่านั้น

“ทางฝ่ายความมั่นคงเขาต้องเข้าไปดูแล​ ถ้าไม่ทำ​ก็จะกระทบต่อภาคธุรกิจ ส่วนจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไรนั้นยังมองยาก​ อย่าให้คาดการณ์เลย​ตอนนี้เลย​ ขอดูแลเฉพาะงานที่ทำดีกว่า”

ด้าน นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า จะนำแนวทางที่รมว.คลัง มอบหมายไว้ไปหารือร่วมกับอุตสาหกรรมประกันภัย เพื่อจัดทำแผนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยมาเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณา ซึ่งที่ผ่านมา คปภ.ได้มีการส่งเสริมอยู่แล้ว อาทิ การจัดทำประกันภัยเฉพาะโรค เป็นต้น