“อาคม”​เผยธนาคารโลก แนะไทย ช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ไม่ควรเหวี่ยงแห

  • เน้นการแพทย์ สาธารณสุข
  • เพราะคาดเดาไม่ได้อนาคตจะเจอโรคระบาดอีกหรือไม่
  • นโยบายการคลังที่ผ่านมาสมเหตุสมผล

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า จากธนาคารโลก ได้เปิดตัวรายงานการประเมินรายได้และรายจ่ายภาครัฐของประเทศไทย โดยธนาคารโลกได้ระบุว่าการใช้นโยบายการคลังของไทยในช่วงก่อนโควิด ถือว่าเป็นการใช้นโยบายการคลังที่สมเหตุสมผล  ทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ แต่เมื่อเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด  ประเทศไทย ได้ออกพระราชกำหนด ( พ.ร.ก) เงินกู้รวม 2 ฉบับ= วงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่สูงแต่ไม่ได้สูงที่สุดในโลก เพื่อนำมาช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด  ซึ่งหากรัฐบาลไม่ออกมาตรการช่วยเหลืออาจทำให้ในปี2563 เศรษฐกิจไทยอาจติดลบมากกว่า 6 %

“เศรษฐกิจไทย ถือว่ามีการฟื้นตัวหลังโควิดเป็นประเทศแรกๆในโลก แต่อาจไม่ได้ฟื้นตัวอย่างโดดเด่นมาก แต่เป็นการค่อยๆฟื้นตัว โดยเมื่อปี 2565 มีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ทำให้รายได้ของรัฐบาลดีขึ้น กว่าช่วงปี2563-2564  ที่รายได้ไม่เข้าเป้า เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัวจากผลของโควิด”

นายอาคม กล่าวต่อว่า ธนาคารโลกได้แนะนำประเทศไทยว่า การใช้นโยบายการคลังในระยะต่อไปนี้ ควรเป็นการใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ไม่ควรเป็นนโยบายการคลังแบบเหวี่ยงแห เนื่องจากรัฐบาลมีภาระที่จะต้องจัดสรรงบประมาณในหลายๆเรื่อง  ส่วนเรื่องของการใช้จ่ายภาครัฐนั้น ธนาคารโลก อยากให้รัฐบาลไทย มุ่งไปที่การแพทย์ สาธารณสุข เนื่องจากไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าในอนาคตจะเจอโรคระบาดอีกหรือไม่  

ส่วนเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจคือคุณภาพแรงงาน ซึ่งประเทศไทย ได้ดำเนินการยกระดับขีดความสามารถทั้งการ up skill และ reskill เนื่องแรงงานทั้งหมด  ต้องมีการฝึกอบรมกันใหม่ เพราะในโลกดิจิทัลนั้นโรงงานต้องมีการปรับตัวกันมาก ส่วนเรื่องของการศึกษา ที่ต้องมีการปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมของเร สำหรับเรื่อง เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน คือเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ  ที่ทุกภาคส่วนต้องตื่นตัว ปรับตัวให้สอดรับการเปลี่ยนแปลงภาวะภูมิอากาศ