อากาศแห้งแล้งไรแดงมันสำปะหลังสบช่องระบาด

  • กรมวิชาการเกษตร แนะนำให้เกษตรกรหมั่นตรวจแปลง
  • ช่วงสภาพอากาศแห้งแล้ง
  • ถ้าพบการระบาดไม่รุนแรงให้เก็บใบมันสำปะหลังที่พบไรแดงมาทำลาย

นายศรุต สุทธิอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในสภาวะที่อากาศร้อนและแห้งแล้งเป็นช่วงที่เหมาะสมต่อการระบาดของไรแดงมันสำปะหลัง จึงขอแจ้งเตือนให้เกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังหมั่นสำรวจแปลงปลูก เพื่อป้องกันกำจัดก่อนที่มันสำปะหลังจะแสดงอาการรุนแรงส่งผลกระทบต่อการให้ผลผลิต โดยตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณใต้ใบและสร้างเส้นใยอยู่เหนือผิวใบบริเวณที่ไรดูดทำลาย ซึ่งผลจากการดูดกินน้ำเลี้ยงของไรตรงบริเวณใต้ใบทำให้หน้าใบเกิดจุดประด่างขาว โดยเฉพาะตามแนวเส้นใบ ต่อมาขยายแผ่กว้างขึ้น ทำให้หน้าใบทั้งหมดมีสีขาวซีด ใบกระด้าง กรอบ หากระบาดรุนแรงใบจะร่วงหลุดจากต้น ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตและการสร้างหัวของมันสำปะหลัง

สำหรับวิธีป้องกันและกำจัดไรแดงมันสำปะหลัง แนะนำให้เกษตรกรหมั่นตรวจแปลงในช่วงสภาพอากาศแห้งแล้ง ถ้าพบการระบาดไม่รุนแรงให้เก็บใบมันสำปะหลังที่พบไรแดงมาทำลาย กรณีที่มีการระบาดรุนแรงให้ เลือกใช้สารป้องกันกำจัดไรชนิดใดชนิดหนึ่งและใช้ตามอัตราที่แนะนำ ได้แก่ เฮกซีไทอะซอกซ์ 1.8% EC อัตรา 100 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ทีบูเฟนไพแรด 36% EC อัตรา 5-10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ไพริดาเบน 20% WP อัตรา 10-15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ไซฟลูมิโทเฟน 20% EC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร สไปโรมีซิเฟน 24% SC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร เฟนบูทาติน ออกไซด์ 55% SC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นเมื่อพบไรแดงทำลายบริเวณใบส่วนยอดและใบส่วนล่างเริ่มแสดงอาการเหี่ยวโดยเฉพาะพืชยังเล็ก พ่นให้ทั่วทั้งต้น ใต้ใบ และบนใบ จำนวน 1-2 ครั้ง ห่างกัน 10 วัน อย่างไรก็ตามการใช้สารฆ่าไร ควรพ่นให้ทั่วบริเวณใต้ใบและหลังใบ และพ่นสารเฉพาะบริเวณที่พบการทำลายของไรเท่านั้น รวมทั้งไม่ควรพ่นสารชนิดเดียวกันติดต่อกันเกิน 3 ครั้ง ควรสลับชนิดสารเพื่อป้องกันการต้านทานต่อสารของแมลง