อัพเดทวัคซีน:ฟื้นความเชื่อมั่น

หลังจากที่มีข่าวการมาถึงประเทศไทยของวัคซีนต้านโควิด-19 ทั้งแอสตราเซเนก้าและซิโนแวค ในช่วงต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา พร้อมที่จะปูพรมฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วประเทศ ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจไทยก็เริ่มฟื้นตัวอีกครั้ง 

โดยภาคเอกชนคาดว่า หากการจัดหา และกระจายวัคซีนของรัฐบาล ซึ่งณ ขณะนี้ ยังคงเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนให้ครบ 100 ล้านโดส หรือ 50 ล้านคน เท่ากับ 70% ของจำนวนประชากร ภายในสิ้นเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อให้ภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นภายในไตรมาสแรกของปี 65 เป็นไปได้ตามเป้าหมายจริง

รัฐบาลจะสามารถผ่อนคลายมาตรการเวิร์ค ฟอร์ม โฮม หรือ การทำงานที่บ้าน และเปิดให้ทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จำนวนคนมากๆ ได้ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกลับมาได้ในระดับที่น่าพอใจ

อย่างไรก็ตาม ในทางความคาดหวัง กับการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ยังไม่ตรงกัน โดยกรณีข้างต้นที่กล่าวมานั้น นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ในประเทศมองว่าเป็นกรณีที่ดีกว่าการคาดการณ์ หรือดีกว่า “กรณีฐาน” ที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น

โดยหากรัฐบาลต้องการให้เกิดกรณีดังกล่าวขึ้นได้จริง นับจากวันที่ 7 มิ.ย.ซึ่งเป็นวันดีเดย์เริ่มฉีดวัคซีนแบบปูพรมจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.64 ทุกวันไม่เป็นเว้นวันหยุดราชการ รัฐบาลจจะต้องเร่งฉีดวัคซีนให้กับคนไทยให้ได้ 400,000-500,000 โดสขึ้นไปต่อวัน

ขณะที่ “กรณีฐาน” หรือนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ว่าเกิดขึ้นกับประเทศไทย ก็คือ ในสิ้นปีนี้ เราจะฉีดวัคซีนได้ประมาณ 64-65 ล้านโดส หรือประมาณ 32-33 ล้านคน ใกล้เคียงกับ 47% ของประชาชากรทั้งประเทศ  ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับที่สหรัฐฯ ใช้เป็นฐานในการเปิดประเทศ หรือเปิดเมืองในขณะนี้ 

และหากต้องการให้เป็นไปตามกรณีฐานนี้ รัฐจะต้องเร่งระดมฉีดวัคซีนให้ได้เฉลี่ยทั้งสิ้น วันละ 280,000-300,000 โดสต่อวัน ซึ่งจะทำให้เราเริ่มเปิดประเทศได้ส่วนหนึ่งในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ หรือไตรมาสแรกของปีหน้า และเปิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อจำนวนผู้ฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นๆ

ซึ่งในกรณีฐานนี้ เท่ากับรัฐบาลจะต้องประคองเศรษฐกิจต่อไปอีก 6-7 เดือนหลังจากนี้ ภายใต้ความเสียหายเฉลี่ยทั้งคาดว่าจะอยู่ที่ 90,000-100,000 ล้านบาทต่อเดือน

หันไปดูสถิติการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด -19 ในต่างประเทศ คิดเป็นเปอร์เซนต์ต่อประชากร ข้อมูลที่ได้รับ ณ วันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่าประเทศที่มีประชากรได้รับวัคซีนแล้วมากที่สุด 60% หรือมากกว่า ของจำนวนประชากร คือ สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ บาห์เรน มัสดีฟส์ และอิสราเอล  รองลงมาเป็นสหราชอาณาจักรและชิลี ได้รับวัคซีนแล้ว 50% ของประชากร 

ขณะที่สหรัฐอเมริกา มีผู้รับวัคซีนแล้วทั้งสิ้นประมาณ 47% ของจำนวนประชาชกร โดยมีผู้ฉีดเข็มที่ 1 แล้ว 51% อุรุกวัย ฮังการรี การ์ตา มีประชากรที่ฉีดวัคซีนต้านโควิดแล้วมากกว่า 40% 

ส่วนฝั่งยุโรป และประเทศอื่นๆ อาทิเช่น เยอรมัน ฝรั่งเศล อิตาลี สเปน แคนาดา เบลเยี่ยม ออสเตรีย สวิสเซอร์แลนด์ เซอร์เบีย สิงคโปร์ มองโกเลีย ลิทัวเนีย ไซปรัส ลักเซมเบิร์ก ไอซ์แลนด์ มีผู้ฉีดวัคซีนแล้วมากกว่า 30% ของจำนวนประชากร

สำหรับประเทศจีนนั้น เป็นประเทศที่ฉีดวัคซีนแล้วมากที่สุดในโลกประมาณมากกว่า 700 ล้านโดส หรือประมาณ 35% ของวัคซีนที่ฉีดแล้วทั่วโลก แต่เมื่อคิดเป็นเปอร์เซนต์จำนวนประชากรอาจจะไม่สูงเท่ากับประเทศอื่น เนื่องจากจีนมีประชากรมากกว่า 1,400 ล้านคน

กลับมาที่ประเทศไทย ข้อมูลจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. วันที่ 6 มิ.ย. 2564  ได้ฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศ (ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 2564 จนถึง 6 มิ.ย. 2564) หรือประมาณ 99 วัน  ฉีดวัคซีนไปแล้วทั้งสิ้น 4,218,904 โดส หรือประมาณ 4.08% ของจำนวนประชากร หรือคิดเฉลี่ยต่อวัน ฉีดวัคซีนได้ประมาณ 43,000 โดส 

ขณะที่ตามแผนการบริการจัดการวัคซีนของรัฐบาล ที่คาดว่าในเดือน มิ.ย.นี้จะมีวัคซีนทั้งสองชนิด ทยอยเข้ามายังไทย และสามารถฉีดได้อยู่ที่ประมาณ 9 ล้านโดส หรือคิดคร่าวๆ ที่ประมาณ 300,000 โดสต่อวัน  และหากสามารถกระจายการฉีดได้ทั้งหมดต่อเนื่องทุกวันไปจนถึงสิ้นปีในอัตราดังกล่าว

กรณีนี้ เราจะสามารถเข้าสู่กรณีฐานที่คาดไว้ หรือฉีดวัคซีนได้ประมาณ 47% ของจำนวนประชากรภายในสิ้นปีนี้

แต่ปัญหาที่นักเศรษฐศาสตร์กังวลกันคือ ในทางปฎิบัติจำนวนวัคซีนที่คนไทยได้รับต่อวันจากเฉลี่ยวันละไม่ถึง 1 แสนโดส จะขึ้นไปสูงสุดต่อวันได้ที่เท่าไร 

เพราะจากการตั้งสมมติฐานและภาพทัศน์ในแต่กรณีล่าสุดที่คำนวนได้ ส่วนใหญ่พบว่า โอกาสที่จะเกิดกรณีดีกว่าฐาน หรือ ฉีดได้ครบ 100 ล้านโดสหรือ 500,000 โดสต่อวันนั้น มีเปอร์เซนต์การเกิดขึ้นได้ “น้อย” 

โดยนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ลุ้นให้รัฐบาลสามารถดำเนินการได้ตาม “กรณีฐาน” ที่ตั้งความหวังไว้ คือวันละ 280,000-300,000 โดสต่อวัน ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้วก็ “ไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องง่าย” 

ส่วนหากจะถามถึงความเชื่อมั่นของภาคเอกชน และประชาชนในการใช้ชีวิต หรือความพร้อมที่จะออกมาท่องเที่ยวหรือจับจ่ายใช้สอยในระยะต่อไปจะเป็นอย่างไรนั้น ตัวคงจะสวิงขึ้นลง ตามเปอร์เซนต์ของการได้รับวัคซีนของประชากรไทยในช่วง 3-4 เดือนหลังจากนี้

เพราะเท่าที่ได้รับฟังจากภาคท่องเที่ยว และห้างสรรพสินค้าที่สำรวจแล้ว พบว่า คนไทยที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มพร้อมที่จะออกมาใช้ชีวิตตามปกติ ขณะที่ผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรก พร้อมที่จะออกมาใช้ชีวิตปกติภายใต้การใส่หน้ากาก เหมือนในช่วงก่อนการระบาดครั้งที่ 3

การฟื้นเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายและการลงทุนจึงแปรผันตรงกับจำนวนผู้ได้รับวัคซีน

อย่างไรก็ตาม การควบคุมคลัสเตอร์การแพร่ระบาดให้ลดลงให้น้อยที่สุด และการระมัดระวังไม่ให่้สายพันธุ์ใหม่ๆ ที่หลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีเข้ามาเพิ่มขึ้นก็เป็นเรื่องสำคัญที่ “การ์ดของรัฐบาลจะตกไม่ได้” ไม่เช่นนั้น ถึงระดมฉีดวัคซีนได้ เราอาจจะต้องนับหนึ่งใหม่เช่นกัน

#Thejournalistclub #วัคซีนโควิด19#เศรษฐกิจ