อังค์ถัดชี้ครึ่งแรกปี 63 เอฟดีไอโลกดิ่งหนัก 49%

  • ลดลงทั้งลงทุนใหม่-ควบรวมกิจการ-สินเชื่อซื้อกิจการ
  • ย้ำเงินไหลเข้าประเทศพัฒนาแล้วน้อยกว่ากำลังพัฒนา
  • แต่อาเซียนมีไทย-ฟิลิปปินส์เงินไหลเข้าเพิ่มขึ้นสวนทาง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) ซึ่งเป็นองค์กรภายในสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้เผยแพร่รายงานการติดตามแนวโน้มการลงทุนโลก (Global Investment Trends Monitor) เมื่อวันที่ 27 ต.ค.63 โดยระบุว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 63 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ของประเทศต่างๆ ในโลก ลดลงมากถึง 49% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 62 ซึ่งลดลงรุนแรงกว่าที่อังค์ถัดคาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ส่วนประเทศกำลังพัฒนา สถานการณ์การลงทุนดีกว่า  ส่วนทั้งปี 63 ยังคงคาดเอฟดีไอติดลบ 30-40% จากปี 62 ที่มีมูลค่า 1.54 ล้านล้านเหรียญฯ 

สาเหตุที่เอฟดีไอลดลงมาก เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ประเทศต่างๆ มีมาตรการล็อกดาวน์นั้น ส่งผลให้โครงการลงทุนต่างๆ ชะลอออกไปก่อน ประกอบกับ ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ รอดูสถานการณ์  

สำหรับเอฟดีไอที่ลดลงนั้น เป็นการลดลงของการลงทุนใหม่ทั้ง 100% (กรีนฟิลด์) 37%, การควบรวมกิจการ 15% และสินเชื่อการเข้าซื้อกิจการขนาดใหญ่ ลดลง 25% และยังเป็นการลดลงของเงินไหลเข้าสู่ประเทศพัฒนาแล้วมากสุดถึง 75% มีมูลค่า 98,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากการลดลงของเอฟดีไอไปสหภาพยุโรป ส่วนอเมริกาเหนือ รวมถึงสหรัฐฯ เอฟดีไอมีมูลค่า 68,000 ล้านเหรียญฯ ลดลง 56%  

ขณะที่เอฟดีไอที่ไหลเข้าสู่ประเทศกำลังพัฒนาลดลงเพียง 16% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ และเงินลงทุนส่วนใหญ่ไหลไปจีน ส่งผลให้เงินลงทุนไหลเข้าเอเชียลดลงเพียง 12% เท่านั้น   ส่วนแอฟริกา ลดลง 28% ละตินอเมริกาและแคริบเบียน ลด 25%  

ส่วนอาเซียน เอฟดีไอไหลเข้ามีมูลค่า 62,000 ล้านเหรียญฯ ลดลง 20% โดยประเทศที่เงินไหลเข้าลดลงมากที่สุดคือ สิงคโปร์ 28% มูลค่า 33,000 ล้านเหรียญฯ ตามด้วยอินโดนีเซีย 24% มูลค่า 9,100 ล้านเหรียญฯ เวียดนาม ลดลง 16% มูลค่า 6,800 ล้านเหรียญฯ ยกเว้นฟิลิปปินส์ ที่เงินทุนไหลเข้าเพิ่มขึ้น 205 มาอยู่ที่ 3,000 ล้านเหรียญฯ ส่วนไทย เพิ่มขึ้นเป็นตัวเลข 2 หลัก มูลค่า 4,800 ล้านเหรียญฯ  

  สำหรับคาดการณ์เอฟดีไอปี 63 อังค์ถัดยังคงไว้ที่ลดลง 30-40% แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ  ระยะเวลาการระบาดของโควิด-19 และนโยบายของประเทศต่างๆ ในการดึงดูดการลงทุน และฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศจากผลกระทบของโควิด-19 รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์