อะไรเกิดขึ้น! เมื่อคนไทยติดใช้จ่ายออนไลน์

ต้อนรับความร้อนแรงในโลกของการซื้อขายออนไลน์ 9:9 หรือมหกรรมลดราคาครั้งยิ่งใหญ่ ในวันที่ 9 เดือน 9 ซึ่งในขณะนี้กลายเป็นธรรมเนียมของการซื้อขายของทุกแพลตฟอร์ม รวมทั้งร้านค้าออนไลน์ตั้งแต่ขนาดเล็กไปถึงยักษ์ใหญ่่ไปแล้ว จากที่เคยเป็นธรรมเนียมเฉพาะแพลตฟอร์มชื่อดังระดับโลก

และวันนี้ หากถามคนไทยจำนวน 10 คนที่คุณรู้จัก เชื่อว่าไม่ต่ำกว่า 8 คนจะรู้จักการซื้อสินค้าออนไลน์ หรือเคยซื้อสินค้าผ่านร้านค้าออนไลน์ด้วยซ้ำ

โดยข้อดีของร้านค้าออนไลน์ จากการสำรวจคือ ประหยัดเวลา สามารถซื้อได้จากทุกที่ทุกเวลา ดึกๆ ดื่นนอนไม่หลับก็สามารถหยิบโทรศัพท์มือถือมาชอปออนไลน์ได้ตลอด มีขายทุกสรรพสิ่ง ทุกสินค้าที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีขาย แถมยังได้ราคาที่ถูกกว่า และของแถมที่มากกว่าการไปชอปตามห้างสรรพสินค้าอีกด้วย นอกจากนั้น ยังไม่ต้องออกไปขนสินค้ามาบ้านด้วยตัวเอง เพราะหลังจากโอนเงินแล้ว ภาย 3-7 วัน เราจะได้รับสินค้าส่งตรงถึงหน้าบ้าน

ขณะที่บางคน ยอมรับด้วยว่า ติดตามการไลฟ์สดของบรรดาพ่อค้าแแม่ค้าออนไลน์ จนแทบจะแซงหน้าละครหลังข่าว เพราะพ่อค้าแม่ค้าไลฟ์สดแต่ละร้านก็ต่างพากันงัดกลยุทธ์การขายที่แสนจะสนุกสนาน ครบรสมาเอาใจ “คุณลูกค้าค่ะ” กันอย่างเต็มที่ จนแม่ค้าออนไลน์หลายๆ ร้านกลายเป็น “เน็ตไอดอล” ของเมืองไทยไปอีกตำแหน่ง
และอีกประเด็นที่สำคัญคือ การชอปปิ้งออนไลน์ ยังช่วยลดโอกาสในการสัมผัสโรคในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อีกด้วย

โดยผลจากการระบาดของโควิด-19 ที่ยาวนานใกล้ๆ จะ 2 ปี รวมทั้ง การดำเนินโครงการให้เงินช่วยเหลือประชาชนในโครงการของรัฐผ่านระบบการชำระเงินในแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ หรือ การโอนเงินช่วยเหลือโดยตรงผ่านระบบพร้อมเพย์

ถือเป็นแรงผลักดันหลักใน “คนไทย” รู้จักและหันมาใช้ธนาคารออนไลน์กันอย่างแพร่หลาย ต่อเนื่องไปจนถึงการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากทำให้เข้าใจการทำงานว่า ใช้ง่าย ไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด แค่กดปุ่มโอน หรือ สแกนจ่าย ไม่ต้องพกตังค์ พกเหรียญ หาเงินทอนให้วุ่นวาย

ทั้งนี้ ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รายงานธุรกรรมการชำระเงินผ่านบริการธนาคารมือถือ (Mobile Banking) และการใช้บริการธนาคารผ่านอินเตอร์เน็ต (Internet Banking) ของคนไทย โดยมีตัวเลขถึงสิ้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา เทียบกับเดือน มิ.ย.ปี 63 หรือปีที่แล้ว พบว่า ในช่วงเวลา 1 ปี คนไทยมีการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านทั้งสองระบบดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยสิ้นเดือน มิ.ย.ปีนี้ มียอดธุรกรรมการชำระเงินผ่าน Internet Banking ทั้งสิ้น 2.259 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 409,000 ล้านบาท หรือ 22.1% จากช่วงเดียวกันในปี 63 โดยมีการชำระเงินผ่านระบบ Internet Banking ทั้งสิ้น 45.64 ล้านครั้งเพิ่มขึ้น 9.52 ล้านรายการ หรือ 26.35% จากในช่วง มิ.ย.ปี 63

ส่วนการทำธุรกรรมการชำระเงินผ่าน Mobile Banking หรือ แอพพลิเคชั่นธนาคารในมือถือ พบว่า สินเดือน มิ.ย.ปีีนี้ ลูกค้าที่ใช้แอพธนาคารมือถือมากถึง 74.98 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้น 12.07 ล้านบัญชี หรือ 19.4% จาก 62.91 ล้านบัญชีในเดือน มิ.ย. ปี 63

โดยมีมูลค่าการชำระเงินผ่าน Mobile Banking ทั้งสิ้น 4.7 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.46 ล้านล้านบาท หรือ 45.06% จากยอดเงิน 3.24 ล้านล้านบาท ที่มีการชำระกันในเดือนมิ.ย.ปี 63 และมีการทำรายการเพื่อชำระเงินทั้งสิิ้น 1,222 ล้านครั้ง เทียบกับ 791 ล้านครั้ง ในเดือน มิ.ย.63 เพิ่มขึ้น 431 ล้านรายการ หรือเพิ่มขึ้นมากถึง 54.48%

ส่วนคำตอบของคำถามที่ขึ้นหัวคอลัมน์ไว้ว่า อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อคนไทยเริ่มจะชิน หรือติดการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งทำให้พฤติกรรมการซื้อขายสินค้าโดยรวมเปลี่ยนแปลงไปนั้น ล่าสุด จากการสอบถามภาคธุรกิจการค้า พบว่า ความสนใจการซื้ออนไลน์ของคนไทย ได้ทำให้การซื้อขายในระบบออฟไลน์เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

โดยแม้ว่า วันนี้รัฐบาลจะผ่อนคลายให้คนออกมาทานอาหารข้างนอกบ้านได้แล้ว ให้ห้างสรรพสินค้ากลับมาเปิดบริการได้ แต่ยอดขายยังไม่กลับมาเท่าที่ควร

ทั้งนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นของนักธุรกิจของธปท. พบว่า ประมาณ 30% ของผู้ประกอบการมองว่า กำลังซื้อที่ไม่กลับมาเป็นเพราะคนไทยได้เปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อของไปซื้อของออนไลน์มากขึ้นแล้วนั่นเอง ทำให้จำนวนคนที่ซื้อของในห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าปลีกลดลง

โดยลูกค้าบางราย มาที่ห้างเพื่อเป็นการมาดูสินค้าต้นแบบของจริงเท่านั้น แต่เลือกที่จะซื้อสินค้าทางออนไลน์ เพราะสามารถเปรียบเทียบราคา และโปรโมชั่นจากหลากหลายร้านค้า

ส่งผลให้ร้านค้าปลีก หรือห้างสรรพสินค้า จะต้องเตรียมความพร้อม และสรรหากลยุทธ์การขาย การตลาดใหม่ๆ เพื่อรักษาส่วนแบ่งของตลาด ในช่วงที่เราสามารถผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปได้้ในอนาคต

ขณะเดียวกัน สำหรับผู้บริโภคเอง การซื้อขายสินค้าจากร้านค้าออนไลน์นั้น ก็ไม่ได้มีแง่ดีแต่เพียงฝั่งเดียวเท่านั้น โดยผู้บริโภคควรจะต้องตรวจสอบร้านค้า และสินค้าให้ดีก่อนที่จะสั่งซื้อ

เพราะในช่วงที่ผ่านมา สอดคล้องกับจำนวนการซื้อขายที่เพิ่มขึ้น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) พบข้อร้องเรียนจากผู้ซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย ทั้งกรณีการนำเสนอสินค้าบางรายการมีลักษณะแจ้งสรรพคุณที่อาจเกินความจริง สินค้าไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน มอก. หรือ ไม่มี อย. ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ รวมทั้งกรณีถูกหลอกลวง เช่น โอนเงินแล้วไม่ได้สินค้า ได้สินค้าไม่ตรงปก หรือได้สินค้าผิดจากที่ได้สั่งซื้อ

เมื่อโลกเปลี่ยนแปลง และพฤติกรรมการขายและการซื้อสินค้าเปลี่ยนไป คนที่รู้เท่าทัน และรู้ไว จะเป็นคนที่ได้ประโยชน์สูงสุด