“ออสเตรเลีย”สำรวจพบ “บุคลากรการแพทย์” ยุคโควิด-19 เสี่ยงหมดไฟทำงาน

เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2564 สำนักข่าวซินหัวรายงาน ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยอีดิธ โคแวน ในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียของออสเตรเลีย พบ 42% ของบุคลากรทางการแพทย์ในออสเตรเลียมีแรงจูงใจในการทำงานน้อยลง เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)

การสำรวจข้างต้นซึ่งเผยแพร่ผ่านวารสารดิสแซสเตอร์ เมดิซีน แอนด์ พับลิก เฮลธ์ พรีแพร์ดเนส (Disaster Medicine and Public Health Preparedness) ในเดือนกันยายน ระบุความกังวลหลักของบุคลการด่านหน้าเกือบ 600 คน ระหว่างเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกแรกในออสเตรเลียเมื่อปี 2020

ส่วน 35% ของผู้ตอบแบบสอบถามแสดงอาการภาวะหมดไฟในการทำงาน 30% แสดงอาการภาวะซึมเศร้า ส่วน 16% ลางานเป็นเวลานาน ขณะเดียวกัน 35% เห็นว่าแม้ระดับความเสี่ยงติดเชื้อในสถานที่ทำงานจะอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ในสถานการณ์ปกติ แต่ความเสี่ยงระหว่างเกิดโรคระบาดใหญ่นั้นสูงเกินไป

เอริน สมิธ รองศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยฯ และนักวิจัยที่ร่วมจัดทำการสำรวจ ระบุว่าผลการศึกษาเผยว่าแม้คลังอุปกรณ์ป้องกันสำหรับบุคลากรด่านหน้าจะพรั่งพร้อมยิ่งขึ้น แต่ออสเตรเลียจะต้องให้ความสนใจกับผลกระทบที่จับต้องไม่ได้ ขณะการระบาดใหญ่ยังคงยืดเยื้อด้วย

“บรรดาองค์กรต่างพัฒนากระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ให้ดีขึ้นจากช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ แต่เราต้องเปรียบเทียบพัฒนาการนี้กับปัจจัยอื่น อาทิ ความเหนื่อยล้าและภาวะหมดไฟด้วย” สมิธกล่าว โดยสมิธเชื่อว่ามีตัวกระตุ้น 2 ประการที่ดันให้สถิติเพิ่มสูง ได้แก่ ขีดจำกัดทางกายและปัญหาทางศีลธรรม

สมิธกล่าวว่าการที่บุคลากรทางการแพทย์ลดทอนการยึดถือค่านิยมหลัก ทำให้พวกเขารู้สึกอับอาย รู้สึกผิด และโดดเดี่ยว ซึ่งนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า รวมถึงปัญหาทางจิตใจและอารมณ์อื่นๆ และหากประเด็นเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม มันอาจทำให้มีบุคลากรทางการแพทย์ลาออกจากงานเป็นจำนวนมากหลังการระบาดใหญ่

ดังนั้นสมิธเสนอให้ออสเตรเลียเสริมแรงสนับสนุนระดับสถาบัน เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ระบุอาการเบื้องต้นของบาดแผลทางจิตใจ และสร้างมาตรการที่เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือ บรรเทา และป้องกันอาการต่างๆ อาทิ ภาวะซึมเศร้ารุนแรง สภาวะป่วยทางจิตใจเมื่อเผชิญเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างร้ายแรง (PTSD) และการใช้ยาเสพติด

“บุคลากรทางการแพทย์ควรรู้สึกว่าเราให้ค่าและสนับสนุนบทบาทหน้าที่ของพวกเขา ซึ่งมีความซับซ้อนและต้องเผชิญความเครียดมากขึ้นทุกขณะ”