“ออมสิน” ก้าวต่อบทบาทธนาคารเพื่อสังคม ปักหลุดปล่อยกู้ “ดิจิทัลเลนดิ้ง” เพื่อลูกค้ารายย่อย พ.ย.นี้

  • เผยสินเชื่อดิจิทัลเลนดิ้ง ไม่เน้นพิจารณารายได้เป็นหลัก
  • แต่จะใช้ Alternative Data มาใช้ในการพิจารณา เช่นข้อมูลอาชีพ อายุ ประวัติการชำระเงิน
  • กำหนดวงเงินปล่อยกู้ต่อรายอยู่ที่ 20,000-30,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 1-1.25% ต่อเดือน
  • ย้ำเสียงเข้ม! ออมสินพร้อมตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ให้นานที่สุด หาก กนง.ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

วันนี้ (18 ก.ค.65) นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินตั้งเป้าหมายภายในเดือน พ.ย.65 นี้ ธนาคารจะสามารถปล่อยกู้ให้แก่ลูกค้ารายย่อยผ่านระบบออนไลน์ หรือดิจิทัลเลนดิ้งได้ 100% หลังจากที่ผ่านมาได้ทยอยนำร่องปล่อยกู้ผ่านระบบโมบาย เลนดิ้งไปบ้างแล้วบางส่วน สำหรับการปล่อยกู้ดิจิทัลเลนดิ้งนั้นทางออมสินจะไม่นำข้อมูลเรื่องรายได้ของผู้กู้มาเป็นเกณฑ์หลักในการพิจารณาสินเชื่อ แต่จะใช้ข้อมูลด้านอื่นๆ หรือAlternative Data มาใช้ในการพิจารณาสินเชื่อ อาทิเช่น ข้อมูลอาชีพ อายุ ประวัติการชำระเงิน การใช้บริการระบบสาธารณูปโภคต่างๆ จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้น 

สำหรับการปล่อยกู้ผ่านโมบายเลนดิ้ง หรือ MyMo ของธนาคารในช่วงที่ผ่านมา สามารถปล่อยกู้ให้แก่รายย่อยได้ถึง1.6 ล้านราย และภายในปี 65 นี้ ออมสินตั้งเป้าจะปล่อยกู้ดิจิทัลเลนดิ้งให้ได้ 100% โดยกำหนดวงเงินปล่อยกู้อยู่ที่ประมาณรายละ 20,000-30,000 บาท อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำที่ 1-1.25% ต่อเดือน โดยคาดว่าเมื่อเริ่มปล่อยกู้ได้ จะทำให้มีลูกค้าเข้ามาในพอร์ตเพิ่มขึ้น 200,000 ราย

“การปล่อยกู้ผ่านดิจิทัลเลนดิ้งเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญที่จะทำให้ธนาคารออมสิน เป็นธนาคารเพื่อสังคมได้มากยิ่งขึ้นเนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ของธนาคารจะเป็นลูกค้ารายย่อยที่ประกอบอาชีพอิสระ ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ก็มีไม่เท่ากับผู้ที่มีรายได้ประจำ ดังนั้นทางธนาคารจึงต้องพยายามออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้สอดคล้องกับอาชีพ และความต้องการของผู้กู้ที่ประกอบอาชีพอิสระมากที่สุด โดยปัจจุบันทางออมสิน มีฐานลูกค้ารายย่อยถึง 70% ของพอร์ตลูกค้าทั้งหมด” นายวิทัย กล่าว

นอกจากนี้ การจะเป็นธนาคารเพื่อสังคมนั้น นอกเหนือจากการนำผู้กู้ที่ประกอบอาชีพอิสระให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้แล้ว ยังจะต้องช่วยให้อัตราดอกเบี้ยในระบบที่อยู่ในระดับสูงปรับลดลงมาด้วย โดยที่ผ่านมาธนาคารก็ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ ทำให้อัตราดอกเบี้ยในระบบดังกล่าวที่มีอยู่สูงถึง 28% ต่อปี ปรับลดลงมาอยู่ในระดับประมาณ 16-18% ต่อปี โดยธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อได้กว่า 1 ล้านราย 

รวมถึงธนาคารออมสิน ยังได้ดำเนินโครงการ “มีที่ มีเงิน” เพื่อให้ธุรกิจที่มีหลักประกันได้มีสภาพคล่องไปดำเนินธุรกิจในช่วงวิกฤตโควิด-19 โดยปล่อยสินเชื่อได้ถึง 21,000 ล้านบาท ซึ่งในครึ่งหลังปีนี้ ธนาคารจะเร่งเปิดตัวธุรกิจนอนแบงก์ออกมาต่อเนื่อง เพื่อประกอบธุรกิจด้านสินเชื่อที่ดิน ธุรกิจขายฝาก และสินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและรายย่อยให้มีสภาพคล่อง โดยที่อัตราดอกเบี้ยจะยังคงต่ำกว่าในระบบ หรือจะอยู่ในระดับไม่เกิน 20% ต่อปีอีกด้วย

นายวิทัย กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่ตนมารับตำแหน่งผู้อำนวยการ ธนาคารออมสินได้ปรับยุทธศาสตร์ โดยวางยุทธศาสตร์ให้ธนาคารเป็นธนาคารเพื่อสังคมมากขึ้น โดยยึดหลักนำกำไรจากการประกอบธุรกิจปกติ มาสนับสนุนภารกิจเชิงสังคมผ่านมาตรการและโครงการต่างๆ กว่า 45 โครงการ โดยมีประชาชนได้รับประโยชน์และความช่วยเหลือแล้วจำนวนกว่า 13 ล้านราย โดยเป็นผู้ที่ได้รับสินเชื่อ 5.7 ล้านราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ไม่เคยมีประวัติเครดิตและเป็นการเข้าถึงสินเชื่อในระบบมากถึง 2.76 ล้านราย ทั้งนี้ธนาคารได้ตั้งเป้าหมายระยะ 1-2 ปี ว่า ในจำนวนลูกค้านี้ประมาณ 1.5 ล้านราย จะขยับเป็นผู้กู้ที่มีเครดิต สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินอื่นได้  

ทั้งนี้ สำหรับในส่วนผลประกอบการในครึ่งปีแรกนั้น ธนาคารออมสินสามารถทำกำไรได้ 15,000 ล้านบาท คาดว่า ณสิ้นปี ธนาคารจะมีกำไรราว 29,000 ล้านบาท สูงกว่าปี 64 ที่มีกำไร 25,000 ล้านบาท ทั้งนี้ส่วนสำคัญที่ทำให้ธนาคารยังคงมีผลกำไรในระดับสูง เนื่องจาก สามารถปรับลดต้นทุนการดำเนินงานโดยรวมได้กว่า 10,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ในด้านหนี้เสีย (NPL) ของธนาคารยังถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำ และสามารถควบคุมได้ โดยอยู่ที่ 2.67% แต่สูงกว่าปีก่อนเล็กน้อยที่อยู่ในระดับ 2.49% โดยทั้งปีธนาคารตั้งเป้าจะบริหารจัดการให้หนี้เสียไม่เกิน 3.5% ทั้งนี้ปัจจุบันธนาคารออมสินได้ตั้งเงินสำรองส่วนเกินไว้จำนวนถึง 41,000 ล้านบาท จาก 2 ปีที่แล้วมีเงินสำรองส่วนเกินเพียง 4,000 ล้านบาท เท่านั้น

นอกจากนี้ นายวิทัย ยังกล่าวถึงทิศทางดอกเบี้ยที่จะมีการปรับขึ้นว่า ยอมรับเรื่องดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอัตราสูง ซึ่งในจุดนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้กู้แน่นอน ทั้งกับกลุ่มที่มีการกู้สินเชื่อไปแล้ว และกลุ่มที่กำลังจะขอกู้ใหม่ ขณะเดียวกันกลุ่มเงินฝากก็จะได้รับดอกเบี้ยสูงขึ้นตามดอกเบี้ยนโยบาย 

“สำหรับธนาคารออมสิน ขอให้คำสัญญาว่าจะธนาคารจะทำทุกทาง เพื่อตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ให้ไวให้นานที่สุด แต่จะนานแค่ไหนเวลานี้ยังคงตอบชัดไม่ได้ เพราะต้องประเมินอีกครั้งว่าดอกเบี้ยจะปรับขึ้นเมื่อไหร่ และปรับขึ้นอัตราเท่าไหร่ ซึ่งทางธนาคารก็ได้เตรียมประเมินผลกระทบ และแนวทางรับมือไว้เรียบร้อยแล้ว เช่นหากมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% จะกระทบอย่างไรบ้าง มีแผนรับมืออย่างไรไว้บ้าง ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่จะประเมินได้คือ ต้องรอความชัดเจนจาก กนง. อีกครั้ง” นายวิทัย กล่าว