อย่าปล่อยให้ความหวังหลุดลอย “แก้หนี้นอกระบบ”

ขอบคุณภาพประกอบจาก www.pixabay.com

สมัยนี้“นักเลงคีย์บอร์ด”เป็นกันได้ง่าย องค์ประกอบไม่ต้องมีอะไรมากแค่นิ้วมือ กับแป้นพิมพ์ในโทรศัพท์ หรือจะเลือกใช้เสียงให้พิมพ์เป็นตัวหนังสืออัตโนมัติก็ย่อมได้ มีแค่นี้ก็เป็น “นักเลงคีย์บอร์ด”กันได้แล้ว ไม่ต้องใช้สมองให้เปลือง อยากจะระบาย กล่าวหา หรือโจมตีใคร ก็โพสต์หรือคอมเมนต์ในโซเชียลกันอย่างเมามันโดยไม่มีสำนึกรับผิดชอบ

อย่างไรก็ตามการทำสิ่งใดโดยไม่ใช้ “สติ” และ“ปัญญา” มากำกับ ย่อมมี“ปัญหา”ตามมาเสมอ สุดท้ายก็หนีไม่พ้นที่ต้องตามชดใช้ “กรรม” หรือผลของการกระทำ ที่ตัวเองทำลงไป กรรมที่ว่าจะถูกชำระสะสางด้วยพระราชบัญญัติที่ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

นับเป็นกระแสความนิยมกระทำกันในโลกไซเบอร์ สำหรับการเรียกร้องความสนใจจากสังคมโดยจุดประเด็นใดประเด็นหนึ่งขึ้นมาให้ตัวเองดูเหมือนเป็น“ฮีโร่” แต่พบว่ามีหลายกรณีไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลให้ถี่ถ้วน ไม่ถามไถ่ผู้รู้หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง พอมีคนถามหาที่มาที่ไปก็ตอบไม่ได้ ไม่มีหลักฐาน พยานมายืนยัน หลายกรณีพบว่าเป็นเรื่องอุปโลกน์ขึ้นมา ต้องแถๆไถๆหาทางลงให้ตัวเอง เจอบ้างไม่เจอบ้าง

ดังนั้นประเภทที่ว่าฟังๆเขามาแล้วเอามาโพสต์ มาแชร์ จริงเท็จแค่ไหนไม่รู้ ส่วนใหญ่จะย้อนศรมาทิ่มแทงตัวเองเกือบทั้งนั้น

อย่างรายล่าสุดมีนักการเมืองท่านหนึ่ง ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก กล่าวถึงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ที่มีการแจกโฉนดคืนให้ชาวบ้านว่า มีหลายกรณีเป็นการสร้างภาพ เจ้านายโดนแหกตา

“คนชายขอบ”เคยเขียนบทความไปก่อนหน้านี้แล้วว่า หลังจากที่มีการเปลี่ยนตัวคนรับผิดชอบดูแลการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ นายทุนกลับมาเหิมเกริมตีปีกกันยกใหญ่ ชาวบ้านตกไปเป็นเบี้ยล่างเหมือนเดิม ข้อตกลงเดิมที่ทำกันไว้นายทุนก็เบี้ยวไม่ทำตาม นี่คือคำยืนยันจากชาวบ้านตัวจริงเสียงจริง

หากการทำงานเป็นแค่การสร้างภาพ จัดฉากให้เจ้านายมามอบโฉนดเพื่อถ่ายภาพลงสื่อ แล้วทำไมชาวบ้านจึงออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเดินหน้าทำงานเรื่องนี้อย่างจริงจังให้สุดซอย ทำไมใบหน้าชาวบ้านจึงเต็มไปด้วยน้ำตาแห่งความยินดี ในเมื่อเป็นแค่การสร้างภาพ แต่ปัญหาคือ แรงขับเคลื่อนมันเบาลงไป เพราะหัวขบวนถูกเปลี่ยน ชาวบ้านจึงระส่ำไม่มั่นใจว่าแนวทางจะยังคงเดิมหรือไม่

เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องการบังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของความไว้เนื้อเชื่อใจจากชาวบ้านที่จะออกมาให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ด้วย ซึ่งต้องเข้าใจว่า สิ่งที่ชาวบ้านเผชิญทุกข์ระทมมาแสนนานคือ ความเหลื่อมล้ำทั้งในแง่ความรู้ด้านกฎหมาย เงิน และอำนาจ แถมนายทุนยังมีเจ้าหน้าที่ที่พร้อมจะยืนเคียงข้างเป็นฝ่ายเดียวกันอีก
ชาวบ้านจะเอาอะไรไปต่อสู้ ร้องเรียนไปก็เงียบหาย ดีไม่ดีโดนข่มขู่ เจ้าหน้าที่แอบเอาข้อมูลที่ร้องเรียนไปให้นายทุนย้อนกลับไปเล่นงานชาวบ้านอีก

ดังนั้นชาวบ้านส่วนหนึ่งจึงก้มหน้ายอมรับชะตากรรมด้วยความจำนนไปแล้ว ไม่เชื่อมั่นในการทำงานของเจ้าหน้าที่เพราะเจ็บมาเยอะ ถูกหลอกมาก็มาก เสียค่าใช้จ่ายไปไม่รู้เท่าไหร่ ทั้งๆที่ก็แทบจะไม่มีกินอยู่แล้ว เป็นความเจ็บช้ำที่ต้องจมอยู่กับกองทุกข์วันแล้ววันเล่า

ในวันที่เจ้าหน้าที่รัฐทุ่มเทการทำงาน ระดมสรรพกำลังจากทุกหน่วยงาน งัดข้อกฎหมายทุกข้อมาใช้ จนพิสูจน์ให้เห็นว่าเกิดผลในทางปฏิบัติได้จริง ได้รับโฉนดที่ถูกกลโกงจากนายทุนคืนได้จริง ชาวบ้านจึงเพิ่มจำนวนออกมาพึ่งเจ้าหน้าที่กันมากขึ้น ข้อมูลที่จะใช้เล่นงานนายทุนจึงเพิ่มพูนมากขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานหากไม่มีเจ้านายหัวขบวนที่พร้อมจะเป็นแนวรับให้ การทำงานคงไม่ราบรื่น สำเร็จลุล่วง ยิ่งสังคมไทยอยู่ในระบบอุปถัมภ์ ผูกปิ่นโตซ้อนกันไม่รู้กี่เถา การทำงานจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีความเสียสละและกล้าหาญ ไม่เช่นนั้นคงจบเห่ไปนานแล้ว อย่าว่าแต่โฉนดเลย เงินสักสลึงคงไม่ได้คืนจากนายทุน

แค่เข้าไปค้นในบ้านนายทุน จะมีโทรศัพท์จากผู้ใหญ่คนนั้นคนนี้ เข้ามาแสดงอำนาจบาตรใหญ่ ให้การคุ้มครองนายทุน หากไม่ได้ไฟเขียวหรือมีแบ็กอัพ เป็นแนวหนุนที่แข็งแกร่งพอ เชื่อได้ว่าโครงการนี้ไปไม่ถึงไหนแน่นอน แทนที่จะชื่นชมการทำงานและให้กำลังใจกัน กลับมาทำลายให้ภาพของโครงการบิดเบี้ยวไป

เมื่อภาพของโครงการแก้หนี้นอกระบบ ถูกวาดใส่สีให้เป็นแค่การจัดฉากแหกตา จากนี้ชาวบ้านจะหันหน้าไปพึ่งใคร จะกล้าเข้ามาขอความช่วยเหลือกันต่อหรือไม่ จะให้พวกเขาเข้าระบบแบบเดิมๆนั้น ถ้าทำได้คงสำเร็จกันไปนานแล้ว

โมเมนตัมหรือแรงเหวี่ยงที่เบาลงไปของการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ จะต้องเร่งขึ้นมาใหม่ จะด้วยวิธีการใดก็ตามเป็นหน้าที่ของรัฐบาล เพราะหากรอบนี้ไปไม่สุดซอย ล่มกลางคัน ชาตินี้ก็คงแก้ไม่ได้ วกกลับเข้าสู่“วงจรอุบาทว์”เช่นเดิม

น่าเสียดายที่ตั้งต้นกันมาดีจนเป็นที่ถูกใจและสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับชาวบ้าน ขณะที่นายทุนหน้าเลือดหัวหด บางรายยอมกลับใจมาเข้าระบบด้วยซ้ำ นั่นคือความสำเร็จที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะหยุดไว้แค่นั้น แล้วไม่ขยายผลต่อ ต้องตัดตอขุดรากถอนโคนให้สิ้นซาก ที่สำคัญคือขอคนที่“มือถึง”ชาวบ้านพึ่งได้ก็แล้วกัน
คนชายขอบ