“อนุทิน” เข้มมาตรการคัดกรองนักเดินทาง สกัดโอมิครอน ย้ำ!ไม่ลอยแพ 90,000 ผู้ลงทะเบียน Thailand Pass แค่ขอตรวจละเอียดขึ้น

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน ในประเทศไทย ว่าวันนี้ (22ธ.ค.)อาจจะมีผู้ติดเชื้อถึง 100 คน ต้องรอทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยืนยัน สำหรับนักเดินทางที่ลงทะเบียน Thailand Pass ไว้ แต่ยังไม่ได้เข้าประเทศไทย ขอให้ มั่นใจว่า สามารถ เดินทางเข้ามาได้ตามแผนการที่วางไว้ แต่ขั้นตอน จะเพิ่มขึ้น โดยจะมีการตรวจ RT-PCR ให้ 2 ครั้ง คือวันที่ 1 และวันที่ 7 และจะเพิ่มในส่วนของการติดตามตัวระหว่างอยู่ในประเทศให้มากขึ้น ส่วนการเข้ามาแบบ Test And Go ที่ชะลอไปแล้วิจะเดินหน้าอีกเมื่อไร ตรงนี้ ต้องขอประเมินอีกครั้งหลังจากวันที่ 4 มกราคม 2564 สำหรับมาตรการต่างๆ เราจะพิจารณาตามความเหมาะสม อาจจะเข้มข้นขึ้น หรือผ่อนคลายขึ้น ก็อยู่กับสถานการณ์ ส่วนที่บอกว่าไทยปิดประเทศแล้ว ขอย้ำว่า ยังไม่ปิด แต่เราทำให้ทุกอย่างมันรัดกุมขึ้น เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน เช่น การเข้ามา ก็ต้องกักตัวตามเกณฑ์ที่กำหนด 7-10 ตรวจ 2 ครั้ง ไปจนถึงปฏิบัติตามมาตรการอื่นๆ

ส่วนกรณีที่นักท่องเที่ยว ติดเชื้อโควิด-19 แล้วหลบหนีออกจากโรงแรมที่กักตัว ตอนนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ระหว่างเร่งการติดตาม หากพบตัวแล้ว ต้องรักษาให้หาย ก่อนจะดำเนินคดี และถูกนำตัวออกนอกประเทศ

อย่างไรก็ตามขอย้ำว่า วัคซีนที่จัดหามาบริการประชาชน มีประสิทธิภาพป้องกันการป่วยหนัก และเสียชีวิติ แม้จะเป็นเชื้อโอมิครอนก็ตาม ก็ขอให้ประชาชนมารับวัคซีน โดยได้สั่งให้กรมควบคุมโรคกระจายวัคซีนลงพื้นที่ต่างๆ อย่างทั่วถึงแล้ว กับเชื้อโอมิครอน ถึงตอนนี้ ยังไม่มีการยืนยันว่า เป็นเชื้อที่รุนแรงกว่าตัวก่อนๆ หรือไม่ ที่ค่อนข้างชัดคือติดง่ายกว่า แต่เพราะคนไทยฉีดวัคซีนกันอย่างทั่วถึง และเรามีระบบการรักษาที่ดีขึ้นมาก ไปจนถึงทรัพยากรที่เตรียมไว้ตลอด ก็น่าจะรับมือได้ อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนตั้งการ์ดด้วย ส่วนผู้ประกอบการ ผู้ใช้บริการ อย่าลืมเรื่อง Covid Free Setting

เมื่อถามว่าสถานการณ์ในไทย จะรุนแรงเหมือนหลายประเทศหรือไม่ นายอนุทิน ตอบว่า ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่คิดว่า จะไม่ไปถึงจุดนั้น เพราะคนไทย ยังยกการ์ดสูง เราปฏิบัติตนตามหลัก DMHTT และเราก็ฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมแล้ว ขณะเดียวกัน เรามีประสบการณ์มาพอสมควร แล้วเรานำประสบการณ์มาปรับใช้กับปัจจุบัน วันนี้ เรามีระบบกักตัวที่บ้าน กักตัวในชุมชน เราได้คิดแผนสำรองเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนักไว้แล้ว เราทำทุกอย่างสุดความสามารถ ก็หวังว่าจะช่วยผ่อนคลายสถานการณ์ได้