“อนุทิน” ย้ำไทยจัดหายา”ฟาวิพิราเวียร์”เต็มที่ มีทั้งผลิตเองและนำเข้าจากต่างประเทศ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่ชมรมแพทย์ชนบท ออกมาให้ข่าวว่าขณะนี้กำลังเกิดปัญหา ยาฟาวิพิราเวียร์ ขาดแคลนนั้น ว่า สำหรับยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาสำคัญในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทางองค์การเภสัชกรรม (อภ.) มีสารตั้งต้นในการผลิตได้เองในประเทศ พร้อมกับมีการนำเข้ามาจากต่างประเทศด้วย ทั้งนี้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)รายงานว่า ได้ติดตามดูแลการจัดส่งยาฟาวิไปยังสถานพยาบาลทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด

นอกจากนั้นทางสาธารณสุขยังได้จัดหายาตัวอื่นๆ ทั้ง ยาเรมเดซิเวียร์ ยาโมลนูพิราเวียร์ และยาแพกซ์โลวิด เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ตามระดับความรุนแรงของอาการ การใช้ยาต่างๆ ข้างต้นนั้นจะมีแนวทางใช้ตามอาการของผู้ติดเชื้อ

“ยาฟาวิพิราเวียร์ เราได้กระจายอย่างทั่วถึง เราไม่มีทางเก็บยาไว้ในสต๊อกโดยที่ยังมีความต้องการใช้ ทางส่วนกลางจะส่งยาไปที่จังหวัด ทั้งนี้ การบริหารจัดการจะอยู่ในระดับจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เป็นเรื่องของการประสานงานระดับพื้นที่”

นายอนุทิน กล่าวต่อว่าส่วนการประเมินสถานการณ์โรคระบาดในช่วงสงกรานต์ยั้น ยืนยันว่ายังเน้นย้ำมาตรการส่วนบุคคล โดยประชาชนที่จะเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ให้ Self-Clean up ตัวเองให้ห่างจากความเสี่ยง เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้เป็นต้นไป เพื่อที่การเดินทางกลับบ้าน หรือไปต่างจังหวัด จะได้เกิดความปลอดภัย เพื่อลดความเสี่ยงก่อนเดินทางไปพบผู้สูงอายุ ที่สำคัญคือ วัคซีนเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์ โดส) หากใครรับเข็มที่ 3 นานมากกว่า 3 เดือน ให้ไปรับเข็มที่ 4 ได้เลย

เมื่อถามถึงความคิดเห็นในกรณีการเสนอให้มีการเล่นสาดน้ำในถนนข้าวสาร นายอนุทิน กล่าวว่า คิดว่าเรายังมีความจำเป็นในการลดความเสี่ยงหลายด้าน โควิด-19 ไปกับคน ติดได้จากการสัมผัส ใช้ภาระร่วมกัน ดังนั้น การสาดน้ำที่ต้องมีการสนุกสนาน ก็เป็นความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม มาตรการสงกรานต์ปีนี้ ไม่ได้ปิด ยังสามารถพบปะกันได้ ขอให้อดทนอีกสักปี เรากำลังเดินเข้าสู่โรคประจำถิ่น ที่ไม่ใช่การประกาศไปอย่างเดียว แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนด้วย เราตั้งใจจะเข้าสู่โรคประจำถิ่น ก็พยายามอย่าไปเพิ่มความเสี่ยงในปัจจัยอื่นๆ แล้วเมื่อเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว ทุกอย่างก็จะคลี่คลายไปได้มาก

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า เมื่อถามถึงความพยายามจะให้ โควิด -19 เป็นโรคประจำถิ่นนั้น ในเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ใช่เพียงการติดเชื้ออย่างเดียว แต่ยังต้องมีความพร้อมด้านสาธารณสุข จำนวนผู้เสียชีวิต จำนวนการครองเตียง และผู้ป่วยติดเชื้อที่ใช้ท่อช่วยหายใจ ทั้งนี้ ถ้าติดเชื้อหลักแสนราย แน่นอนว่าควบคุมได้ยาก แต่ต้องควบคุมไม่ให้เกิดอาการหนัก รักษาหายในเวลาอันสั้น มีระบบสาธารณสุขรองรับ